ขอต้อนรับท่านเข้าสู่ "รายการพิเศษจีนกับอาเซียน" ครับ วันนี้พบกับผมชาติณรงค์ วิสุดกุล ท่านผู้ฟังครับ ระหว่างงานมหกรรมจีน-อาเซียนครั้งที่ 4 ซึ่งเปิดขึ้นที่เมืองหนันหนิงเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสีของจีนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมนี้นั้น นอกจากการประชุมสุดยอดระดับเจ้าหน้าที่ชั้นสูง เทศกาลเพลงพื้นเมืองหนันหนิงและเวทีการปราศรัยต่างๆ แล้ว หอการแสดงของบรรดาประเทศอาเซียนก็นับว่าเป็นส่วนที่ตรึงตาตรึงใจที่สุด ด้วยการมีผู้ประกอบการมากหน้าหลายตาไปร่วมจัดแสดง จนกลายเป็นสถานที่ที่มีผู้เข้าชมล้นหลาม ในรายการวันนี้ ผมขอพาท่านผู้ฟังไปสัมผัสกับบรรยากาศอันคึกคักที่หอการแสดงดังกล่าว โดยเฉพาะคูหาการแสดงของประเทศไทยครับ
****** ******
("เดินหน้าสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน
ได้รับส่วนแบ่งโอกาสแห่งความร่วมมือกับการพัฒนา"
งานมหกรรมจีน-อาเซียนครั้งที่ 4 ณ เมืองหนันหนิงเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสีระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2007
เป็นเวทีสำคัญแห่งความร่วมมือ 10+1
จีนกับอาเซียน ร่วมมือกันและได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย)
****** ******
เมื่อเอ่ยถึงคูหาการแสดง สิ่งที่เข้าสู่สายตาเป็นอันดับแรกก็คือ หอแสดงเมืองแห่งมนตร์เสน่ห์ พอย่างก้าวสู่ห้องโถง สิ่งที่ปรากฏก็คือ ธงชาติ 11 ประเทศซึ่งเรียงรายกันเป็นถิวแถวอยู่เหนือศีรษะ ภายใต้ธงชาติคือหอแสดงของแต่ละประเทศ เพื่อตรงกับประเด็นของ "ฟอรัมว่าด้วยการพัฒนาและความร่วมมือเมืองท่าจีน-อาเซียน" ในงานมหกรรมครั้งนี้ เมืองแห่งมนตร์เสน่ห์ของแต่ละประเทศจึงล้วนเป็นเมืองท่าทั้งสิ้น เมืองแห่งมนตร์เสน่ห์ของประเทศไทยคือจังหวัดชลบุรี-----ที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบังที่มีชื่อเสียง นายอรชุน ศรีพาเพลิน เจ้าหน้าที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า
"เราทำใน Theme ของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งออกแบบมาเป็นรูปคล้ายๆ กับ Crane และภาพทั้งหมดเป็นคอนเทนเนอร์ เหมือนกับรถ Crane กำลังยกคอนเทนเนอร์"
จากการออกแบบถึงการจัดฉาก ด้วยลวดลายที่เรียบง่าย สีสันอ่อนโยน การเปิดให้ผู้ชมลองใช้บริการ SPA และการติดภาพถ่ายทัศนียภาพอันสวยงามของชลบุรีขนาดใหญ่เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ล้วนแสดงให้เห็นว่า เจ้าภาพที่จัดแสดงเมืองแห่งมนตร์เสน่ห์ของประเทศไทยนี้ตั้งใจที่จะแสดงทรัพยากรการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ตลอดจนความได้เปรียบและศักยภาพของจังหวัดชลบุรีในฐานะเมืองท่าที่สำคัญ
1 2
|