เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 40 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่เปิดขึ้นในสิงคโปร์ได้เข้าสู่วาระวันที่ 2 บรรดารัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างได้สรุปผลงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของตน และมาตรการเสริมสร้างการเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจ
ในที่ประชุม ได้มีการสรุปผลงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงปี 2007 จากข้อมูล อาเซียนมีประชากรประมาณ 550 ล้านคน ยอดปริมาณการผลิตของภูมิภาครวม 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดการค้าจํานวน 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าปีที่แล้วเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงก็ตาม แต่อาเซียนยังคงรักษาความได้เปรียบอยู่ กลายเป็นสถานที่ที่ดึงดูดเงินทุนมากที่สุด การลงทุนโดยตรงของนักธุรกิจต่างชาติในประเทศอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ปีที่แล้วมีจํานวน 61,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นวงเงินสูงสุดตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา
ประเด็นการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวเป็นประเด็นหลักของการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งนี้ ผู้นําของประเทศสมาชิกอาเซียนได้อนุมัติ"พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"ในการประชุมผู้นําอาเซียนครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2007 ต่อจากนั้น อาเซียนได้ตั้งกลไก"ตารางประเมินประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" เพื่อติดตามการปฏิบัติตาม"พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"ของประเทศสมาชิกต่างๆ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาทั้งหมดของอาเซียนในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก่อนปี 2015 บรรดารัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ทําความเข้าใจและวิเคราะห์"กลไกประเมิน" โดยเห็นว่าหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆปฏิบัติตาม"พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"ด้วยดี และวางแผนว่าในเดือนธันวาคมปีนี้จะยื่นรายงานเกี่ยวกับผล"การประเมินฯ"ฉบับแรกในการประชุมผู้นําอาเซียนครั้งที่ 14 ที่กรุงเทพฯ
ผู้เข้าร่วมประชุมยังเห็นพ้องต้องกันว่าจะลงนามใน"ข้อตกลงการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาเซียน"และ"ข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนอย่างรอบด้านของอาเซียน" และวางแผนว่าจะลงนามในเดือนธันวาคมปีนี้หลังจากข้อตกลงสองฉบับนี้ได้ผ่านขั้นตอนของกฎหมายแล้ว "ข้อตกลงการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาเซียน"ได้ปรับปรุง"ข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรพิเศษที่มีผลบังคับใช้ร่วมกันในเขตการค้าเสรีอาเซียน"ที่อาเซียนใช้อยู่ในปัจจุับัน เมื่อปี 1992 ประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า 6 ประเทศซึ่งรวมทั้งสิงคโปร์ได้ลงนามใน"ข้อตกลงเกี่ยวกับภาษีศุลกากรพิเศษที่มีผลบังคับใช้ร่วมกันในเขตการค้าเสรีอาเซียน" โดยตกลงว่าเริ่มตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาจะค่อยๆดําเนินโครงการภาษีศุลกากรพิเศษร่วมกัน แหล่งข่าวแจ้งว่า ผลิตภัณฑ์ในประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า 6 ประเทศปัจจุบัน 85% ปลอดภาษีศุลกากร ส่วนผลิตภัณฑ์อีก 15% ก็ได้ลดภาษีศุลกากรให้ตํ่ากว่า 5% สําหรับประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศเช่นกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ผลิตภัณฑ์87% ได้ลดภาษีศุลกากรเหลือ 5% และตํ่ากว่า 5%
ส่วน"ข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนอย่างรอบด้านของอาเซียน"ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับการลงทุนสองฉบับที่อาเซียนมีอยู่ในปัจจุบัน ข้อตกลงฉบับนี้ไม่เพียงแต่ได้สงวนส่วนประกอบ 2 ส่วนที่มีอยู่ในข้อตกลง 2 ฉบับแรก อันได้แก่เสรีภาพในด้านการลงทุนและคุ้มครองการลงทุน หากยังได้เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ความสะดวกแก่การลงทุนและเสริมสร้างการลงทุนด้วย "ข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนอย่างรอบด้านของอาเซียน"ยังคํานึงถึงความต้องการและสิทธิประโยชน์ของนักลงทุน เพิ่มความโปร่งใส และกลไกแก้ไขข้อพิพาทจากการลงทุน เพื่อรักษาศักยภาพของอาเซียนในด้านดึงดูดการลงทุน
(Qi/zheng)
|