ในบรรดานักกีฬาพิการที่มาเข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์ปักกิ่ง 2008 มีกลุ่มบุคคลพิเศษกลุ่มหนึ่ง พวกเขาบางคนพิการจากสงคราม บางคนกำลังเดือดร้อนเพราะควันสงคราม แต่ทว่า นักกีฬาพิการเหล่านี้ได้นำความสนุกสนาน ปลอบขวัญผู้คนที่ประสบความเดือดร้อนจากสงคราม แล้วก็ตอกย้ำให้ทั่วโลกตระหนักว่า สันติภาพคือสิ่งล้ำค่ายิ่ง
Ardeshir Mahini วัย 44 ปีเป็นหัวหน้าทีมฟุตบอลผู้พิการทางสมองของอิหร่าน สงครามระหว่างอิหร่านกับอิรักที่ปะทุขึ้นเมื่อค.ศ.1980 นำเคราะห์ร้ายมาสู่ Ardeshir Mahini เขาบาดเจ็บสาหัสจากระเบิด และเศษระเบิดชิ้นหนึ่งค้างอยู่ในสมองซีกซ้ายของเขาตั้งแต่นั้นมา ทำให้เขากลายเป็นคนสมองพิการ สมัยนั้น Ardeshir Mahini ที่อายุเพียง 16 ปี ยอมรับไม่ได้กับชีวิตบนรถเข็น จึงสาบานว่าจะฝึกยืนได้ และสามารถเตะฟุตบอลเหมือนกับคนปกติ ด้วยความพยายามในที่สุด เขาก็ประสบความสำเร็จ
"เนื่องจากมีเศษระเบิดชิ้นใหญ่อยู่ในสมองซีกซ้ายของผม ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะฟืนฟูให้เป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง หลังจากสมัครเขาทีมชาติแล้ว ผมทุ่มเทกำลังทั้งหมดกับฟุตบอล กีฬาที่ผมชอบที่สุด ในระหว่างการแข่งขัน ผมเกือบลืมว่า ผมเป็นคนพิการ เพราะผมสามารถเตะบอลเหมือนกับคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ได้"
สงครามอันยืดเยื้อที่เกิดขึ้นในกัมพูชาเมื่อศตวรรษที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน กับระเบิดจำนวนมากที่ฝังไว้ทั่วประเทศยังคงคุกคามความปลอดภัยของประชาชนกัมภูชาอยู่ Kim Vanna วัย 40 ปีสูญเสียลำแข้งข้างขวาจากกับระเบิดเมื่อปี 1989 แต่เขาไม่เคยหมดอาลัยตายอยาก ภายใต้ความช่วยเหลือของคณะกรรมการพาราลิมปิกกัมพูชา เขาเริ่มชีวิตนักกีฬาพิการ ความพยายามอย่างไม่ลดละในการฝึกซ้อมวิ่งระยะสั้น ทำให้เขาได้รับเหรียญรางวัล 18 เหรียญในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ และกลายเป็นผู้แทนนักกีฬาพิการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้เขาพลาดเหรียญรางวัลที่กรุงปักกิ่ง แต่เขารู้สึกภาคภูมใจมากที่ได้แข่งขันบนเวทีพาราลิมปิกเกมส์อันกว้างใหญ่
"ผมเคยเข้าร่วมการแข่งขันของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์หลายครั้ง จนถึงวันนี้ ผมได้รับเหรียญรางวัล 18 เหรียญ ผมหวังว่า จะใช้จิตใจอันเข้มแข็งพิชิตความยากลำบากทั้งหลาย ทำชีวิตให้มีคุณค่า"
ถึงแม้ Ardeshir Mahini และ Kim Vanna กลายเป็นผู้พิการจากสงคราม แต่สงครามในประเทศของพวกเขาสงบลงแล้ว พวกเขาจึงจิตใจอันกล้าหาญเดินฝ่าเงามืดของสงคราม และต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิต แต่ทว่าในอิรัก อัฟกานิสถาน รวมทั้งประเทศและเขตแคว้นที่กำลังจมอยู่ในภาวะสงคราม นักกีฬาพิการไม่เพียงแต่ต้องเอาชนะร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เท่านั้น หากยังต้องหลบหลีกควันสงครามด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือ พวกเขาสามารถอาศัยกีฬาคนพิการ สร้างความสุขและปลอบใจพี่น้องประชาชนที่ลำบากยากเข็ญจากสงคราม ในประเทศที่เกิดสงครามและความปั่นป่วนวุ่นวาย นักกีฬาพิการไม่มีสนามฝึกซ้อม แต่พวกเขาหวังว่าการเข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์ปักกิ่ง จะสามารถปลุกเร้าพี่น้องประชาชนเร่งบูรณะฟื้นฟูบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็เผยให้ชาวโลกเห็นว่า เปลวไฟอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกีฬาจะไม่ดับลงแม้เผชิญกับภัยคุกคามจากสงคราม
1 2
|