China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2008-10-24 21:26:49    
ชุมชนศิลปะ 798

cri
สัปดาห์ที่แล้วผมทิ้งท้ารายการไว้ว่า วันนี้จะพาท่านผู้ฟังไปเดินเที่ยว และทราบประวัติของชุมชนศิลปะ 798 แห่งนี้เพิ่มเติม และทำความรู้จักกับศิลปิน และผู้ที่เกี่ยวข้องในงานศิลปะ รวมถึงบรรยากาศการแสดงงานของศิลปินจีนคนหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมด้วย

บรรยากาศการเปิดงานแสดงศิลปะที่ "Tang Gallery" วันนั้น ก็ไม่แตกต่างจากในเมืองไทยเท่าใดนัก มีการกล่าวเปิดงาน มีแขกรับเชิญและมีเพื่อนของศิลปินมาร่วมงาน ทั้งที่เป็นศิลปินด้วยกัน และคนนอกวงการ แต่ที่น่าสนใจ และแตกต่างจากเมืองไทยคือ มีผู้ชมที่วอร์กอินเข้ามาด้วยจำนวนหนึ่ง

เท่าที่ผมเคยไปร่วมงานเปิดนิทรรศการภาพเขียนในเมืองไทยมา ส่วนใหญ่วันตัดริบบิ้นเปิดงานจะมีแต่คนที่รู้จักคุ้นเคยกัน ชนิดว่าไม่ต้องใช่ทฤษฎีซิกซ์ดีกรีเลย หันไปทางไหนก็มีแต่คนกันเอง แต่ที่นี่มีแขกนอกรับเชิญ ที่เดินผ่านไปมาใน 798 แวะเข้ามาด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง ที่ผู้คนมาเดินเสพงานศิลปะกันมากมายขนาดนี้ นั่นแสดงถึงความมีชื่อเสียงของที่นี่ และอีกนัยหนึ่งก็แสดงถึงวัฒนธรรมการบริโภคเชิงสุนทรียะได้หยั่งรากลึกลงไปในสังคมนี้แล้ว

วันนั้น Feng Zhengjie ยืนยิ้มต้อนรับแขกหน้าบาน เพราะแค่เปิดงานวันแรกก็มีนักสะสมจองงานของเขาไปแล้วหนึ่งชิ้น ทำให้ชุดสีสด เสื้อยืดชมพู และแจ็กเก็ตสีเขียวของเขา ซึ่งสอดคล้องเป็นส่วนหนึ่งของคอนเส็ปต์ศิลปะการจัดวางของงานในห้องแสดงยิ่งโดดเด่นมากขึ้น ราวกับว่าตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงด้วย

Feng Zhengjie เป็นศิลปินหนุ่มที่เป็นที่ถูกจับตามองคนหนึ่งของจีน เขาเรียนจบวิจิตรศิลป์ จากวิทยาลัยศิลปะแห่งเมืองเสฉวน เมื่อปี 1992 ช่วงนั้นเขาถนัดงานด้านสัจนิยม แต่เมื่อจบการศึกษามาแล้ว เขาพบว่าวิถีนี้ไม่ใช่เส้นทางที่เขาต้องการ เขาจึงพยายามแสวงหาแนวทางการที่เป็นตัวของตัวเอง จนเมื่อมีวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มแพร่หลายเข้ามา จากการเปิดประเทศของจีน ในแง่ของวัฒนธรรมการโฆษณา และการขายสินค้ามา ทำให้สังคมจีนมีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างถูกล้วนครอบด้วยวิธีคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ออกมาดูดี และมีรูปแบบที่สวยงาม จนกลายเป็นสังคมที่ถูกฉาบด้วยความสวยงามที่เกินจริงและราวกับหลุดมาจากในฝัน

Feng Zhengjie จึงสะท้อนออกมาในผลงานของเขา โดยเฉพาะภาพของผู้หญิงที่มีสีสันจัดจ้าน ทั้งยังดูสวยงามเลิศเลอ จนมองดูคล้ายพลาสติก แสดงอัตลักษณ์ของศิลปินที่ต้องการสื่อว่าในความสวยงามมีบางอย่างซ่อนอยู่ และในความสวยงามก็มีความบกพร่องเช่นกัน เพราะเขามักเขียนดวงตาของผู้หญิงให้เหล่เอียงไปคนละด้าน และลึกยิ่งไปกว่านั้นคือ เขาต้องกรแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ต่างชื่นชอบใบหน้าที่สวยงาม แต่เบื้องลึกภายในอาจจะมีอะไรซ่อนอยู่มากมาย

โดยเฉพาะในการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดที่ Tang Gellry ซึ่งตั้งอยู่ภายในชุมชนศิลปะ 798 ที่เปิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในชื่อ Every Colour You Are, Weathered Death and Birth ผลงานทุกชิ้น ทั้งงานประติมากรรม จิตรกรรม ถูกผสมผสานด้วยศิลปะการจัดวางที่ลงตัว

หากได้มาดูงานนี้เป็นงานแรก ก็จะเห็นเพียงวิธีคิดเดียว ไม่เห็นความต่อเนื่อง แต่หากใครที่ติดตามผลงานของเขามาโดยตลอด จะพบว่า วิธีคิดของเขาต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ภาพเขียนดงดอกไม้สีน้ำมันสดผืนใหญ่ 4 ชิ้นที่แขวนอยู่บนผนัง หากมองแต่เพียงวาบผ่าน ก็จะเห็นเพียงความสวยสดของมวลดอกไม้ แต่ถ้าหากค่อยๆ จับจ้อง จะเห็นว่าทุกภาพจะมีหัวกะโหลกซ่อนอยู่อีกชั้น ซึ่งสอดคล้องกับงานประติมากรรมรูปหัวกะโหลก ที่จัดวางไว้หลายจุดทั่วงาน และในส่วนผนังด้านซ้ายของห้องแสดง ยังเจาะช่องไว้ให้เราส่องมองรูปหล่อหญิงสาวพลาสติกที่หมุนวนอยู่ท่ามกลางทุ่งกะโหลก เสมือนว่าเรากำลังแอบมองชีวิตของคนอื่น และเราก็ได้ถูกแยกออกจากงานชิ้นนั้น ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่เรากำลังเห็น

เหล่านี้สะท้อนการทำงานทางความคิดที่ต่อเนื่อง เขายังคงตั้งคำถามกับสิ่งที่ฉาบอยู่เบื้องหน้าของความเป็นมนุษย์ แต่ครั้งนี้ได้ลงลึกมากยิ่งขึ้น และย้ำถึงความสวยงามว่าจะยังคงอยู่ และความน่ากลัวก็ยังซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างไม่อาจแยกออกได้

งานของ Feng Zhengjie หากจะจัดประเภทแล้วก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของงานศิลปะร่วมสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะงานของเขาเล่นกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับวิธีคิด การดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ เขาก็เพิ่งจัดแสดงงศิลปะร่วมสมัยเพื่อเชื่อมพรมแดนระหว่างศิลปินจีนกับศิลปินไทยที่ Tang Gallery สาขากรุงเทพฯ ส่วนงานครั้งนี้นับว่าเป็นงานแสดงเดี่ยวในรอบสองปีที่เมืองจีนของเขา ซึ่งยังจะจัดแสดงอยู่อีกราว 2 เดือน

ท่านผู้ฟังมีโอกาสมาเที่ยวปักกิ่งอย่าลืมแวะไปชมนะครับ ส่วนใครจะซื้อผลงานของเขาในงานนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะมีคนจองไปหมดหรือยัง แต่ถ้าสนใจผลงานของเขาจริงๆ ก็ลองเข้าไปค้นหาในอินเตอร์เน็ตดูนะครับ ผมเห็นมีบางเว็บไซด์ที่เปิดประมูลผลงานของเขาอยู่

เมื่อรู้จักศิลปินไปแล้ว เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับวาทยกรของการจัดแสดงงานศิลปะ นั่นก็คือ คิวเรเตอร์ (Curator) ผู้อยู่หลังฉากการจัดการแสดงศิลปะ

ผู้ฟังอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อนี้นัก แต่ถ้าคนในแวดวงศิลปะจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า คนผู้นี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ศิลปินคนไหนเกิดหรือไม่ ถ้าเป็นวงการดารานักร้องอาจจะเรียกว่า "ผู้จัดการ" แต่ในทางศิลปะ จะเรียกว่า "คิวเรเตอร์" เรียกทับศัพท์กันอย่างนี้ทั่วโลก

หน้าที่อาจจะคล้ายกันคือ จัดการงานแสดงให้ออกมาอย่างประสบความสำเร็จ ติดต่อกับศิลปินในสังกัด และมองหาดาวดวงใหม่ ทั้งยังต้องมีสายตาที่กว้างไกลในด้านการตลาด รู้วิธีนำเสนอจุดเด่นของศิลปิน รู้จักสถานที่แสดงงานที่มีศักยภาพ มีความสัมพันธ์อันดีกับนักสะสมงาน เพราะคิวเรเตอร์ที่มีความสามารถมาก มีสายตาที่เฉียบคม นักสะสมงานก็จะให้ความเชื่อถือในการที่เขาเลือกผลงานของศิลปินนั้นๆ มาจัดแสดง ซึ่งเชื่อได้ว่าศิลปินคนนี้มีอนาคตแน่นอน

สำหรับ Tang contemporary Art นั้นมีมิสเตอร์ Josef NG เป็นทำหน้าที่เป็นผู้กุมบังเหียนอยู่ ทั้งสาขาในกรุงเทพฯ ฮ่องกง และที่ 798 ในกรุงปักกิ่งแห่งนี้

เขาเล่าว่า "เดิมถังแกลเลอรี่เปิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในพื้นที่ของสีลมแกลเลอเรี่ย ราวปี 2000 จัดแสดงผลงานผลงานศิลปะภาพเขียนจีนของศิลปินจีน และในปี 2004 จึงเปลี่ยนรูปแบบมาจัดแสดงผลงานของศิลปินร่วมสมัยทั้งของจีนและไทย

ผมเองเข้ามาทำงานให้ถังแกลเลอรี่เมื่อปี 2006 แล้วก็พยายามจัดแสดงงานของศิลปินร่วมสมัยของไทยมากขึ้น อาทิ ผลงานของนาวิน และของมานิตย์ ศรีวานิชภูมิ และยังคงผลัดเวียนกับศิลปินจีน และศิลปินอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น"

จากความสำเร็จในการผลักดันงานศิลปะร่วมสมัย ผนวกกับศิลปินจีนเองที่ไปเดินสายจัดแสดงมาทั่วโลก ได้เดินทางกลับมาทำงานในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง เจ้านายของโจเซฟจึงตัดสินใจกลับคืนแผ่นดินใหญ่ และก็ได้เปิด Tang Gallery ขึ้นในชุมชนศิลปะ 798 แห่งนี้ เขากล่าวว่า

"หลังจากที่จีนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ WTO ทำการเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการพัฒนา เราจึงมองเห็นว่าศิลปะกับเศรษฐกิจที่ดีของจีนน่าจะจูงมือไปด้วยกันได้

และประจวบกับศิลปินร่วมสมัยของจีนที่ของไปเดินทางค้นหาตัวเองในต่างประเทศส่วนหนึ่งได้เริ่มกลับเข้ามาแสดงงานใน 798"

เขาได้เล่าย้อนความการเกิดใหม่ของ 798 และการจุดชนวนความโด่งดังของสถานที่แห่งนี้ว่า

"พื้นที่แถวนี้ก็เหมือนรังสิต คือมันเป็นพื้นที่รอบนอกของปักกิ่ง อยู่ระหว่างวงแหวนที่ 4 และวงแหวนที่ 6 ทางไปสนามบิน ตอนนั้นมันเป็นโรงงานร้าง ศิลปินที่ต้องการปลีกตัวเองออกจากความวุ่นวายในเมือง และมองหาสถานที่สามารถประหยัดได้มากที่สุด ทั้งยังต้องมีบรรยากาศที่เหมาะแก่การสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรม 798 จึงเป็นคำตอบที่ศิลปินยุคแรกให้เข้ามาบุกเบิก

ในปี 2006 ตอนที่ Tang Gallery มาเปิดที่นี่นั้น ยังมีเพียงสตูดิโอของศิลปิน ร้านค้าเล็กๆ ทุกอย่างในพื้นที่แห่งนี้มีการจัดการกันเอง แม้กระทั่งจนถึงทุกวันนี้ รัฐจะเข้ามาช่วยบ้างในเรื่องของการทำถนน ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ซึ่งก็เพิ่งเริ่มเมื่อปีที่แล้วนี่เอง"

หลังจากนั้นแกลเลอรี่แห่งนี้ก็จัดแสดงผลงานของศิลปินร่วมสมัยมาโดยต่อเนื่อง โดยปีหนึ่งจะจัดแสดง 4 ครั้ง มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ ศิลปินชาวไทยก็เคยมาที่นี่แล้วเมื่อปีที่แล้วนี่เอง และในเดือนเมษายนปีหน้า นาวิน ลาวันย์ชัยกุล ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกนหนึ่งก็จ่อคิมาแสดงที่นี่

นี่คือหน้าที่ของคิวเรเตอร์ผู้เข้าใจศิลปะในการขาย และขายอย่างมีศิลปะผู้หนึ่งที่ทั้งศิลปิน นักสะสม นักวิชาการศิลปะ และผู้คนในแวดวงต่างรู้จักเขา ไม่แปลกเลยที่เมื่องานวันแรกจบลง เมื่อ Feng Zhengjie และเพื่อนของเขายกโขยงกันมายังร้านอาหารเพื่อฉลองความสำเร็จ มิสเตอร์โจเซฟก็ราวกับเจ้าภาพด้วย ทุกคนต่างแสดงความยินดีกับเขาเช่นเดียวกับศิลปิน

เสียงก้นแก้วเคาะกับโต๊ะพร้อมกันดังสนั่นห้องจัดเลี้ยง เสียงชนแก้วดังกันดังแก๋งๆๆ และเสียงประสาน "กันเปย" จะดังไปทุกที่ที่ทั้งสองคนเดินผ่านไป

นี่เป็นเพียงเกล็นหนึ่งของเม็ดสีที่หลอมรวมกันเป็นใบหน้าของ 798 เด็กสาวผู้กำลัง

เยาวเรศแรกรุ่นที่มีผู้หมายปองหลงใหลทุกสารทิศ

นอกจาก Tang contemporary Art แล้วยังมีแกลเลอรี่ชั้นนำอีกมากมาย อาทิ Art side Gallery, Panda House, Loft 3 Art Gallery, Long March Space, Galleria Continua, Gallery Mook, JoyArt Space, Ullens Center for Contemporary Art และอื่นๆ อีกมากมายเกินกว่าจะกว่าถึงได้หมดในเวลารายการเพียงแค่ 10 กว่านาที เพราะจริงแล้วยังมีแกเลอรี่อีกเป็นร้อยแห่ง อาทิตย์หนึ่งๆ มีการผัดเวียนเข้าและออกของผลงานจำนวนมาก

ตั้งแต่เมื่อปี 2001 ที่บริษัท Beijing Seven stars Science and Technology จำกัด ได้รวมเอา 6 โรงงานคือ 700, 718, 797, 798, 706 และ 707 เข้าด้วยกันเป็นชื่อเดียวคือ 798 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสมัยใหม่และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของจีน

ในปี 2005 รัฐบาลได้ออกเอกสารในการคุ้มครองอาคารทรง Bauhaus อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ 798

ปี 2006 เขตเจ้าหยาง ได้จัดให้ชุมชนศิลปะ 798 เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และร่วมกันกับโรงงาน Seven stars เจ้าของพื้นที่ ตั้งกลุ่มบริหารงานขึ้นมา และสร้างสำนักงานขึ้นใน 798

หลังจากนั้นไม่นาน ถนน ทางเท้า ความเขียวขจีของต้นไม้ ภูมิทัศน์ และแสงสว่างในที่ต่างๆได้ถูกสร้างและปรับปรุงจนสวยงามและสะดวกสบาย ทั้งแก่ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานในพื้นที่ และผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม

และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ได้ริเริ่มจัดเทศกาลศิลปะเชิงสร้างสรรค์ขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 80,000 คน

เดือนเมษายน ปี 2007 กลุ่มบริหารงานของ 798 ได้เชิญ Fan Di'an ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ, Fei Dawei อดีตผู้อำนวยการของ Ullens Center for Contemporary Art, Hung Huang กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท China Interactive Group และ Zhu Qi คิวเรเตอร์ และนักจิจารณ์อิสระ มาร่วมกันวางแผนการจัดงานเทศกาลศิลปะ 798 ปักกิ่งขึ้น ซึ่งมีผู้เข้าชมตลอดการจัดงานกว่า 190,000 คน จากทั่วโลก

กลางปี 2007 มีแกลเลอรี่ สตูดิโอออกแบบ สตูดิโอของศิลปิน ศูนย์แสดงศิลปะ ร้านค้า ร้านกาแฟ และบาร์ รวมกว่า 400 แห่ง รวมอยู่ในชุมชนศิลปะ 798 แห่งนี้

ปี 2008 นี้ 798 กลายเป็นที่จับตามองอย่างยิ่งในตลาดศิลปะโลก บรรยากาศการเปิดงานแสดงมีให้เห็นตลอดทุกอาทิตย์ ผู้คนที่มีรสนิยมเดียวกันพากันหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศด้วยการบอกปากต่อปาก ซึ่งเป็นพลังของการประชาสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ยิ่งบอกต่อกันมากขึ้น ก็ยิ่งแสดงว่าสถานที่แห่งนี้ต้องมีอะไรดีสักอย่างให้คนพูดถึงไม่หยุดปาก

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ยินชื่อของ 798 จากเพื่อนที่คลุกคลีในวงการศิลปะที่เมืองไทย จนได้มีโอกาสเดินทางมาที่ปักกิ่ง ก็ยิ่งได้ยินคนถามอีกว่า ได้ไปดูงานศิลปะที่ 798 หรือยัง และจนกระทั่งเมื่อเพื่อนอาจารย์ทั้งสามท่านได้เดินทางมาเพื่อนเก็บข้อมูลวิจัยนั่นแหละ ถึงได้รู้ว่า นอกจากความสำคัญในตลาดการซื้อขายงานแล้ว 798 ยังกำลังเป็นหัวข้อที่นักวิชาการศิลปะให้ความสนใจ สนใจในกระบวนการความเป็นมา การวมตัวกันของกลุ่มศิลปินที่ต้องการหาสถานที่ที่เหมาะแก่บรรยากาศการทำงาน ทำไมถึงได้เกิดกระแสความนิยมมากขนาดนี้

ผู้ที่มีโอกาสได้เดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น ถึงจะได้พบคำตอบ ทุกสิ่งที่ผสมผสานรวมกันขึ้นที่ 798 แห่งนี้ เป็นผลรวมของงานศิลปะแทบจะทุกรูปแบบ ทั้งสถาปัตยกรรมแบบ Bauhaus กลุ่มศิลปินที่ทำงานหลากหลายทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ร้านค้า ร้านอาหาร ต้นไม้ ดอกไม้ ทางเดิน ฝีมือกราฟฟิตี้ตามกำแพง และประตูโรงงานร้างทุกอย่างถูกจัดวางไว้อย่างลงตัว และแสดงความเป็นตัวตนที่น่าสนใจของ 798

มีผู้กล่าวว่า 798 คือภาพสะท้อนความเป็นจีนสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี จากโรงงานอุตสาหกรรม พัฒนาสู่วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ อดีตกับปัจจุบันคละเคล้ากันได้อย่างลงตัว และเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับเศรษฐกิจประชาชาติที่มีเปอร์เซนต์เพิ่มขึ้นทุกปี

และผลงานของ Feng Zhengjie ก็สะท้อนภาพทั้งสองในอีกทางหนึ่งเช่นกัน โดยตั้งคำถามกับความสมบูรณ์แบบว่าย่อมซ่อนความน่ากลัวอะไรบางอย่างไว้ ภาพเขียนของเขาจึงแต่งแต้มด้วยสีสันสวยสดงดงามของดงดอกไม้นานา แต่เบื้องลึกกลับมีเงากะโหลกซ่อนอยู่

ไม่ว่ารูปแบบของสถานที่จะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหนในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำงานของศิลปิน แต่สุภาษิตไทยที่ว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" นั้น ก็เป็นความจริงอย่างยิ่งเช่นกัน เพราะหากท้องศิลปินยังไม่อิ่มก็คงผลิตผลงานได้ไม่ดีนัก หากไม่มีศิลปินก็ไม่มีคิวเรเตอร์ และหากไม่มีสถานที่ที่ลงตัว ดึงดูดผู้คน คิวเรเตอร์และศิลปินก็จะไม่มีใครมาชื่นชมผลงาน

นี่คือสิ่งที่ทำให้มีชุมชนศิลปะ 798 ในวันนี้

ว่างเมื่อไหร่ก็แวะไปนะครับ อาจเจอผมเดินพล่านเพลินอยู่บริเวณนั้นก็ได้

สวัสดีครับ