จีนดำเนินนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นเวลา 30 ปีแล้ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมแสดงบทบาทการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับต่างประเทศ ช่วยขจัดความขัดแย้งและเพิ่มพูนความเข้าใจกันระหว่างจีนกับโลก ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนระหว่างจีนกับต่างประเทศคึกคักอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ที่ท่านกำลังฟังอยู่นี้คืองิ้วปักกิ่งยุคปัจจุบันเรื่อง ซาเจียปัง แปลเป็นไทยว่า บางตระกูลซา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติภายในประเทศเมื่อทศวรรษ1940 งิ้วเรื่องนี้แพร่หลายมากเมื่อทศวรรษ 1960 ถึง1970 เวลานั้น จิตใจของประชาชนจีนเปล่าเปลี่ยวมาก ซึ่งวัยรุ่นสมัยนี้ยากที่จะคาดคิดได้ว่า เวลานั้น ชีวิตของรุ่นพ่อรุ่นแม่หงอยเหงาแค่ไหนเพียงใด ที่บ้านไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีคาราโอะเกะ ไม่มีดิสโก้เธค โรงละครที่มีอยู่ไม่กี่แห่งจัดแสดงแต่งิ้วเรื่องซาเจียปังเรื่องเดียวทั้งปี
นายจาง อี่ อายุ 50 ปี ย้อนอดีตให้ฟังว่า การแลกเปลี่ยนทางศิลปะวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน นายจาง อี่ เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของกลุ่มวัฒนธรรมต่างประเทศจีน เป็นผู้วางแผนและจัดการแสดงและนิทรรศการที่มีชื่อเสียงในจีน เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1982 แล้วถูกจัดให้ไปทำงานที่กรมวิเทศสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในกระทรวงวัฒนธรรมจีน แรกๆ เขาทำหน้าที่รับรองคณะผู้แทนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมภาครัฐจากเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา เมื่อปี 1990 นายจาง อี่ ลาออกจากราชการ เปลี่ยนไปจัดการแสดงและนิทรรศการ เขากล่าวว่า " ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนจัดการแสดงต่างๆ นับไม่ถ้วน แต่ละไตรมาส แต่ละเดือนตลอดจนแต่ละสัปดาห์ต่างมีการแสดงดีๆ จัดขึ้นตามเมืองต่างๆ ของจีน อย่างเช่นที่กรุงปักกิ่ง ตามโรงละครที่สำคัญๆ ซึ่งรวมโรงละครแห่งชาติด้วย มีการแสดงทุกวัน และมีการแสดงจากต่างประเทศบ่อยๆ ซึ่งรวมคณะศิลปะจากยุโรป อเมริกา เอเชีย แอฟริกา และอาหรับ การแสดงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ ผมเห็นว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา"
ในช่วงโอลิมปิกเกมส์ปักกิ่งที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมมากมาย มีคณะการแสดงกว่า100 คณะจาก 80 ประเทศและเขตแคว้นเดินทางมาแสดงในจีน สื่อมวลชนระบุว่า จีนกำลังกลายเป็นประเทศที่ร้อนแรงของการค้าขายผลงานศิลปะและการแสดงของโลก นับวันยิ่งดึงดูดกิจการและศิลปินต่างประเทศให้พากันมาประกอบอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมในจีนมากขึ้น
นางลิซ่า คลิฟฟ์ชาวอเมริกันวัย 41 ปี เธอมาเมืองจีนเมื่อปี 1991 ในฐานะนักเขียนอิสระ ต่อมาได้ลงทุนในด้านวิจิตรศิลป์และประติมากรรม เธอเปิดร้านผลงานศิลปะ OKO ที่เขต SOHO ย่านการค้าที่คึกคักที่สุดในกรุงปักกิ่ง และในชุมชนศิลปะ 798 เขตศิลปะที่ขึ้นชื่อที่สุดในกรุงปักกิ่งสองแห่ง เธอบอกว่า " ตลาดผลงานศิลปะของจีนน่าสนใจ มาอยู่เมืองจีน ดิฉันรู้สึกว่าตลาดผลงานศิลปะจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลจีนใช้ท่าทีเปิดกว้างต่อวัฒนธรรมต่างๆ ดิฉันจึงมีความมั่นใจต่ออนาคตของร้านเล็กๆ ของฉัน ดิฉันเชื่อว่า หลังโอลิมปิกเกมส์ปักกิ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดของธุรกิจฉัน"
1 2
|