ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา มีอยู่คำหนึ่งที่ต้องหยิบยกขึ้นมาพูด นั่นก็คือ "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ซึ่งเป็นเสมือนแปลงสาธิตการปฏิรูปและหน้าต่างแห่งการเปิดประเทศของจีน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน กล่าวได้ว่า หากไร้ซึ่ง "ทหารแนวหน้า" อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนก็จะไม่หยั่งรากลึกและขยายวงกว้างอย่างทุกวันนี้ การเจริญเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษ สะท้อนให้เห็นถึงหนทางแห่งการพัฒนาของจีน
ช่วงปลายทศวรรษ 1970 จีนยังเป็นระบบเศรษฐกิจวางแผนที่มีความรวมตัวอย่างสูง จะผลิตอะไร ผลิตจำนวนเท่าไร ใช้วิธีไหนมาผลิต ล้วนขึ้นอยู่กับรัฐบาล ทำให้ความกระตือรือร้นของผู้ทำงานและผู้ประกอบกิจการได้รับผลกระทบอย่างมาก วัตถุการผลิตไม่สามารถจัดวางตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1977 นายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้มีสมญานามว่าเป็นหัวหน้าผู้ออกแบบด้านปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน ได้เดินทางไปดูงานที่มณฑลกวางตุ้ง ท่านได้ตั้งเป้าไปที่เซินเจิ้นซึ่งเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ริมทะเล ปีนั้น รายได้เฉลี่ยต่อวันของเกษตรกรท้องถิ่นมีเพียง 1 หยวนเท่านั้น ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อวันของเกษตรกรฮ่องกงซึ่งอยู่อีกฟากฝั่งแม่น้ำกลับสูงกว่า 60 เหรียญฮ่องกง ฉะนั้น จึงต้องหาทางลดความเหลื่อมล้ำนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 1979 จีนมีมติจัดตั้งเขตส่งออกพิเศษขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา และเซี่ยเหมิน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาสาระมากกว่า และปี 1988 มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไหหลำขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง
ภายใต้แนวความคิดใหม่ยกเลิกแนวคิดเก่าๆ และประดิษฐ์คิดค้นอย่างกล้าหาญ ช่วง 30 ปีมานี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ขยายบทบาทด้าน "ความรู้" "เทคโนโลยี" "การบริหาร" และ "นโยบายต่างประเทศ" รวม 4 ประการ ได้สร้าง "ประติมากรรมชิ้นแรก" ที่ส่งผลลุ่มลึกยาวไกลมาหลายต่อหลายครั้ง เช่น เซินเจิ้นเคาะไม้สัมปทานที่ดินไม้แรก และออกหุ้นใบแรก จูไห่เปิดโรงแรมระบบความร่วมมือจีน-ต่างประเทศแห่งแรก และเปิดโรงงานที่ใช้ทุนต่างชาติแห่งแรกในรูปแบบ "นำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่และตัวอย่าง แล้วดำเนินการแปรรูปและประกอบติดตั้ง" เซี่ยเหมินก่อสร้างสนามบินด้วยทุนต่างชาติ และจัดตั้งธนาคารร่วมทุน ส่วนซัวเถาเปลี่ยนระบบการแต่งตั้งผู้บริหารมาเป็นระบบการว่าจ้าง ฯลฯ
ภายใต้แนวความคิดใหม่ที่กล้าประดิษฐ์คิดค้นนี้เอง ในช่วง 30 ปีให้หลัง เซินเจิ้นซึ่งเดิมเป็นเพียงตำบลชายแดนขนาดจิ๋วที่ยึดการค้าการแปรรูปได้พัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองทันสมัย มี GDP อยู่อันดับ 4 ของจีน เซี่ยเหมินพัฒนามาเป็นเมืองทันสมัยริมทะเลที่ชื่อก้องโลกทั้งอุตสาหกรรม การค้าและการท่องเที่ยว ส่วนจูไห่ ซัวเถา และไหหลำก็ได้แผ้วถางประสบการณ์สู่ความสำเร็จมากมายสำหรับการเปิดประเทศของจีน
เข็มนาฬิกาหมุนมาถึงปี 2008 วิกฤตการเงินที่ลามไปทั่วโลกก็เข้ามาซัดกระหน่ำจีน อย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของจีนมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่อื่น เพราะเขตเหล่านี้ได้ลงมือปรับอุตสาหกรรมให้ทันสมัยขึ้นและส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นไว้แต่เนิ่น จึงสามารถรับมือกับวิกฤตการเงินได้ และทำให้วิสาหกิจจีนมองเห็นทิศทางการพัฒนาในอนาคต
นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า การปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นทางเลือกที่สำคัญที่สุดที่ชี้ขาดชะตากรรมของจีนในยุคปัจจุบัน เป็นหนทางที่จำเป็นต้องผ่านในการพัฒนาสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนและบรรลุซึ่งความเจริญรุ่งเรืองครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของประชาชาติจีน
|