ฉิน อี้ว์เซิน
รายการวันนี้ ขอเชิญท่านฟังท่านฉิน อี้ว์เซิน ที่ปรึกษาของกรมวิเทศสัมพันธ์กระทรวงวัฒนธรรมจีนเล่าเรื่องการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทยในช่วง 30 ปีหลังจีนเปิดประเทศต่อค่ะ
ท่านฉินกล่าวแนะนำว่า " ปีหลังๆ นี้ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทยไม่เพียงแต่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั้งสองประเทศ หากยังเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนประเทศต่างๆ อีกด้วย อย่างเช่นสถานีโทรทัศน์ซีเอนเอนของสหรัฐอเมริกาเคยรายงานสัปดาห์วัฒนธรรมจีนหลายครั้งที่จัดขึ้นที่ถนนเยาวราชในกรุงเทพฯ เมืองพัทยา อำเภอหาดใหญ่ และจังหวัดภูเก็ต ตอนที่กษัตริย์สวีเดนเสด็จเยือนประเทศไทย ทรงเสนอให้ไปเยือนถนนเยาวราช เพราะเคยดูรายงานเกี่ยวกับสัปดาห์วัฒนธรรมจีนที่จัดขึ้นที่นั่น และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนารถทรงเสด็จด้วย"
การแสดงดนตรีและวัฒนธรรม สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาพรวลัยลักษณ์ฯ ทรงริเริ่มนั้นเป็นกิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่งของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย พระองค์ทรงแสดงกู่เจิงเครื่องดนตรีดั้งเดิมของจีนในงานดนตรีดังกล่าว พระองค์ทรงเลือกชื่อของงานนี้เป็นภาษาจีนว่า "จง-ไท่ อี้ เจีย ชิน" เพื่อสื่อความหมายลึกซึ้งถึงความเป็นครอบครัวเดียวกันของประชาชนจีนและประชาชนไทย ที่มีความรักใคร่ปรองดองกันเสมือนญาติ
ย้อนรำลึกถึง การแสดงดนตรีและวัฒนธรรม "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน" ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนสิงหาคมของปี ๒๕๔๔ แม้ผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ความประทับใจยังคงตราตรึงในหัวใจของท่านฉิน ท่านฉินกล่าวว่า "ผมซาบซึ้งใจในพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กู่เจิงเป็นเครื่องสายของจีนที่เรียนได้ยากยิ่ง จนมีคำกล่าวขานกันว่ามีแต่ปราชญ์เท่านั้นที่เล่นกู่เจิงได้ ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนนานหลายปี หรืออาจต้องเรียนกันตั้งแต่เด็ก แต่พระองค์ทรงเรียนกู่เจิงเพียงครึ่งปี ก็ทรงแสดงในงานคอนเสิร์ตอย่างคล่องแคล่ว และไพเราะยิ่ง บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็ชื่นชมยกย่องความปรีชาสามารถของพระองค์ด้วย พระหัตถ์ของพระองค์ทรงเจ็บปวด แต่พระองค์ทรงฝึกเล่นและบรรเลงอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่เสด็จเยือนต่างประเทศ พระองค์ทรงนำกู่เจิงไปด้วย นอกจากทรงหมั่นเพียรฝึกเล่น ยังทรงแสดงให้แก่มิตรสหายชาวต่างประเทศฟังด้วย ปัจจุบันสัปดาห์วัฒนธรรมจีนและงานดนตรีสายสัมพันธ์สองแผ่นดินเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างจีน-ไทยแล้ว"
พูดถึงความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ท่านฉินให้ความเห็นว่า "ลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมไทยคือ มีรากฐานแน่นแฟ้นและมีความละเอียดประณีต ซึ่งหยั่งรากลึกในจิตใจของประชาชนไทย และซึมแทรกในทุกแง่มุมของสังคมไทย ด้วยการบ่มเพาะของวัฒนธรรมไทย ด้วยไมตรีจิตมิตรภาพและมีมารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณีและสถาปัตยกรรมของไทยมีความสวยงามนุ่มนวลและอ่อนโยน ยิ่งพำนักในประเทศไทยเป็นเวลานาน ยิ่งเข้าถึงความวิจิตรงดงามของวัฒนธรรมไทย"
พูดถึงกระแสนิยมเรียนภาษาจีนในไทย ท่านฉินเห็นว่า "การเรียนภาษาเป็นความต้องการของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแนบแน่นยิ่งขึ้น ย่อมจะก่อกระแสความนิยมเรียนภาษาของกันและกัน จริงๆ แล้ว การเรียนภาษาไทยในจีนก็ร้อนแรงเหมือนกัน แม้ว่าจีนมีการเรียนการสอนภาษาไทยมาโดยตลอด แต่ในอดีต จีนมีมหาวิทยาลัยเพียงสองสามแห่งที่เปิดสอน และมีคนเรียนน้อยมาก สี่ห้าปีมีรุ่นหนึ่ง แต่ละรุ่นไม่เกิน 10 คน แต่เวลานี้ มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนภาษาไทยแล้ว โรงเรียนอาชีพหรือสถาบันการศึกษาบางแห่งก็มีการสอนภาษาไทยด้วย มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยคน จีนกับไทยเป็นบ้านพี่เมืองน้อง การพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเมือง การค้า และวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ต้องการบุคคลกรที่เรียนรู้ทั้งภาษาจีนและภาษาไทยมากขึ้น"
ท่านผู้ฟังคะ จากการสนทนาของท่านฉิน อี้ว์เซิน เราจะเรียนรู้ว่าท่านฉิน อี้ว์เซิน มีความผูกพันกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทยเป็นเวลา 30 ปีมาแล้ว และยังคงจะคลุกคลีกับงานนี้ต่อไป โปรดฟังท่านฉินอี้ว์เซินเล่าเรื่องการใช้ชีวิตในเมืองไทยในรายการจับชีพจรสังคมจีนในวันพรุ่งนี้ต่อค่ะ
|