ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอรายงานว่า เมื่อเย็นวันที่ 22 ธันวาคม ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งทั้ง 35 คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นนานกว่าครึ่งปี สังคมไทยกลับคืนสู่ความสงบสุข แต่ทว่า เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศยังมีอยู่มาก รัฐบาลชุดใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำยังคงต้องเผชิญกับการท้าทายที่หนักหนาสาหัส นายอภิสิทธิ์กล่าวหลังคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะมุ่งใช้ความพยายามเพื่อสร้างความสามัคคีในสังคมไทย ฟื้นฟูความมั่นใจของประชาชนไทยและประชาคมโลก แต่ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ภายในเวลาเพียง 10 เดือน นายอภิสิทธิ์และรัฐบาลชุดใหม่ต้องอดทนต่อสู้กับความลำบากหลายด้าน ต้นเหตุคือสังคมไทยยังคงแตกแยกและความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากวิกฤตการเงินระหว่างประเทศที่ลุกลามอย่างรวดเร็วก็ทำให้เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาอย่างหนัก นักวิเคราะห์เห็นว่า รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์จะเผชิญกับการท้าทายหลักๆดังต่อไปนี้
ประการแรก พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมอยู่นิ่งกับการสูญเสียอำนาจการเมือง โดยระบุจะยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์โดยเร็ว พรรคเพื่อไทยครองที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ประกอบด้วยหลายพรรค ซึ่งสมาชิกพรรคอื่นบางคนมาจากอดีตพรรคพลังประชาชนที่เป็นคู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์ หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพในพรรคร่วมรัฐบาลได้ ก็อาจจะถูกพรรคฝ่ายค้านบีบ ไทยจะจัดการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนมกราคมปี 2009 โดยจะเลือกตั้งส.ส.อีก 29 คน ผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อพรรคร่วมรัฐบาล
ประการที่สอง เนื่องจากภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ ได้รับผลกระทบหลากหลาย ทั้งจากความสามารถในการบริหารประเทศและการแทรกแซงจากกลุ่มอิทธิพล ก่อนหน้านี้ แวดวงธุรกิจและการค้าของไทยก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ว่า หลายคนไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ถึงแม้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่เป็นนักการทูตมืออาชีพ แต่เขามีความสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างใกล้ชิด เคยปราศรัยบนเวทีของพันธมิตรฯบ่อยๆ และกล่าวชื่นชมการยึดครองสนามบินของกลุ่มพันธมิตรเป็น "วิธีการประท้วงใหม่ของมวลชน" ต่อความไม่พอใจจากหลายฝ่าย นายอภิสิทธิ์เตือนทุกพรรคร่วมรัฐบาลว่า ถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เขาจะปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดันการเมืองให้คืบหน้าไป
ประการที่ 3 ไม่ควรมองข้ามอิทธิพลทางการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการประกาศ รณรงค์ผู้สนับสนุน ที่มีสมญา "กลุ่มเสื้อแดง" ก่อการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มแนวร่วมฯจัดการชุมนุมบ่อยๆ ประณามว่า เนื่องจากได้รับการสนันสนุนจากฝ่ายทหาร พรรคประชาธิปัตย์จึงขึ้นปกครองประเทศได้สำเร็จ ซึ่งได้มาด้วยวิธีอัปยศ ข่าวแจ้งว่า "กลุ่มเสื้อแดง" อาจจะไปปิดล้อมอาคารรัฐสภา ขัดขวางไม่ให้นายอภิสิทธิ์แถลงนโยบายรัฐบาล ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่สามารถจัดการปัญหา "กลุ่มเสื้อแดง" ด้วยดี ก็อาจก่อความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย
ประการสุดท้าย สำคัญที่สุดคือปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์วุ่นว่ายทางการเมืองมาตลอด การท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจการสำคัญของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเที่ยวเมืองไทยในปี 2009 จะลดลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ให้ความสำคัญกับการส่งออก ก็เผชิญกับปัญหาตลาดยุโรปและอเมริกาเล็กลงเพราะลดโควต้าการนำเข้าแล้ว ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่นับวันซบเซาลง เศรษฐกิจไทยจะสามารถพ้นจากภาวะแห่งความลำบากได้หรือไม่ ยังคงต้องจับตามองกัน
Min/Lu
|