ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 1 มีนาคมปี 2009 จะมีการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือการประชุมสุดยอดอาเซียน ประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้คือ"กฎบัตรอาเซียนของประชาชนอาเซียน" ผู้นำประเทศต่างๆ จะปรึกษาหารือนโยบายการพัฒนาของอาเซียนโดยเฉพาะการวางแผนที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำกฎบัตรอาเซียนสู่การปฏิบัติ ร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะเปิดฉากใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ผู้นำประเทศอาเซียนจะปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ เช่นจะกระชับความร่วมมือทางการเงิน เพื่อรับมือกับการท้าทายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลกในปัจจุบัน
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ใกล้จะเปิดประชุมเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกหลังจากกฎบัตรอาเซียนเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2008 เป็นสัญลักษณ์ของการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวอีกอย่างหนึ่ง กฎบัตรอาเซียนระบุว่า อาเซียนจะพัฒนาเป็นประชาคมอาเซียนก่อนปี 2015 ซึ่งจะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนได้แก่ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจและประชาคมสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนในอนาคตมีเป้าหมายเดียวกัน ฐานะเดียวกันและเสียงเดียวกัน จะร่วมกันรับมือกับการท้าทาย ถ้าหากกล่าวว่า กฎบัตรอาเซียนเป็นพื้นฐานของการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว การประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็เป็นโอกาสให้ผู้นำประเทศต่างๆ ร่วมกันวาดพิมพ์เขียวให้กับองค์ประกอบ 3 ส่วนดังกล่าว และทำให้กระบวนการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวนั้นมีรายละเอียดและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่แล้ว พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้รับการอนุมัติจากผู้นำประเทศต่างๆ แล้ว เพื่อประกันการรวมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวก่อนปี 2015 วาระการประชุมครั้งนี้ระบุว่า ผู้นำ 10 ประเทศอาเซียนจะประกาศ"ปฏิญาณชะอำ-หัวหิน"เกี่ยวกับโรดแม็พประชาคมอาเซียนระหว่างปี 2009-2015 จะลงนาม"พิมพ์เขียวว่าด้วยประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน" "พิมพ์เขียวว่าด้วยประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน"ตลอดจน"ข้อเสนอระยะที่สองของแผนการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว"เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวใีนปี 2015 ก้าวคืบหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง และมีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอาเซียนในอนาคต
นอกจากการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวแล้ว การพิจารณากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อร่วมกันรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคก็เป็นหัวข้อสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศอาเซียนก็เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินในอาเซียนจึงเป็นความต้องการและความปรารถนาร่วมกันของสมาชิกอาเซียน เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดประชุมวาระพิเศษของรัฐมนตรีคลังอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่จังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีที่เข้า่ร่วมประชุมได้เห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มขนาดกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของภูมิภาคที่กำลังเตรียมจัดตั้งขึ้นจากจำนวน 80000 ล้่านเหรียญสหรัฐเป็น 120000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการต้านความเสี่ยงทางการเงินของประเทศในภูมิภาค คาดการณ์ว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้จะอภิปรายประเด็นนี้กันอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้นำประเทศต่างๆ ยังจะปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ เช่นอาหาร พลังงาน ภัยธรรมชาติในภูมิภาคและการเข้าออกประเทศอย่างผิดกฎหมายเป็นต้น
นอกจากผู้นำประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังจะเข้าีร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจประเทศต่างๆ จะลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือหลายฉบับระหว่างการประชุมครั้งนี้
Zhou/Dan
|