เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลงที่กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ บรรดาผู้นำที่เข้าร่วมประชุมได้ตดลงร่วมกันหลายประการเพื่อร่วมมือกันรับกับวิกฤตการเงินโลก อาทิ ให้เงินทุนเพิ่มแก่องค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนการเสริมความเข้มงวดในการกำกับดูแลด้านการเงิน นายหูจิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนกล่าวคำปราศรัยในที่ประชุม เน้นให้ฝ่ายต่างๆร่วมมือกันทุ่มเทกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก คัดค้านลัทธิกีดกันทางการค้าไม่ว่าในรูปแบบใด เร่งการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง สร้างระบบการเงินระหว่างประเทศใหม่
หลังการประชุมเสร็จสิ้นลง นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ประกาศว่า ฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลก
"เราเชื่อว่า ในศตวรรษใหม่ ความเจริญรุ่งเรืองจะแบ่งแยกไม่ได้ วิกฤตการเงินโลกต้องการวิธีแก้ไขจากทั่วโลก การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเป็นการพัฒนาร่วมกัน การค้าจะต้องเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตอีก"
ประธานาธิบดีหูจิ่นเทากล่าวคำปราศรัยในหัวข้อ ร่วมมือกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเสนอว่า จีนเห็นว่า ควรกำหนดมาตรฐานและข้อกำหนดการกำกับดูแลการเงินระหว่างประเทศที่จะได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ปรับปรุงกฎเกณฑ์และระบบการกำกับดูแลขององค์การประเมิน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะเสริมความเข้มงวดในการกำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะองค์ประกอบทางเศรษฐกิจเงินตราสำรอง นอกจากนี้ จะต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของ IMF และธนาคารโลก ให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมมากขึ้น และปรับปรุงระบบเงินตราระหว่างประเทศให้สมบูรณ์ขึ้น
ประธานาธิบดีหูจิ่นเทากล่าวอย่างชัดเจนว่า จีนสนับสนุนให้เพิ่มเงินทุนแก่ IMF ยินดีที่จะสร้างคุณูปการอันพึงมี จีนเห็นว่า เงินทุนที่เพิ่มใหม่ควรใช้ในประเทศด้อยพัฒนาก่อน ควรสร้างกลไกช่วยเหลือทางการเงินระหว่างประเทศที่ปฏิบัติเร็วและมีประสิทธิผล ประเมินประเทศที่เป็นลูกหนี้ด้วยมาตรฐานที่ครบถ้วนทุกด้านตามสภาพความเป็นจริง และหลักวิทยาศาสตร์
ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาเสนอเป็นพิเศษว่า จะต้องคัดค้านลัทธิกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ รักษาบรรยากาศการลงทุนที่เปิดเผยและมีเสรีภาพ
นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนเน้นถึงจุดยืนอันเด็ดเดี่ยวของจีนเกี่ยวกับการคัดค้านลัทธิกีดกันทางการค้าว่า
"การประชุมครั้งนี้มีจุดยืนชัดเจนมากในการคัดค้านลัทธิกีดกันทางการค้า และเสนอให้ผลักดันการเจรจารอบโดฮา ประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่า ลัทธิกีดกันทางการค้าจะทำให้วิกฤตการเงินร้ายแรงยิ่งขึ้น ชาวโลกนับวันตระหนักถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนของการคัดค้านลัทธิกีดกันทางการค้ามากขึ้น"
ที่ประชุมประกาศแถลงการณ์ก่อนจะปิดประชุมว่า ผู้นำ G20 เห็นพ้องต้องกันว่า จะส่งเสริมความร่วมมือในการกำกับดูแลทางการเงินระหว่างประเทศ นายบราวน์กล่าวว่า
"เราจะใช้มาตรการที่เป็นเอกภาพ สร้างหลักการปฏิรูประบบธนาคารทั่วโลก จัดการค้าในทางที่ไม่เปิดเผยของธนาคารเข้าสู่เครือข่ายกำกับดูแลธนาคาร เราเห็นพ้องต้องกันให้สร้างมาตรฐานบัญชีสากล ปฏิรูปองค์กรประเมินสินเชื่อ เพื่อหลีกเลี่ยงเกิดข้อขัดแย้งในปัญหาผลประโยชน์"
ผู้นำ G20 ตกลงจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความมั่นคงทางการเงิน แทนที่ฟอรั่มความมั่นคงทางการเงิน เพื่อร่วมกับ IMF สำรวจความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาคและตลาดการเงิน และเป็นการเตือนภัย นอกจากนั้น IMFและธนาคารโลกจะดำเนินการปฏิรูป ให้ประเทศเศรษฐกิจใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิขึ้นพูดมากขึ้น
|