ตั้งแต่อำเภอเวิ่นชวนมณฑลเสฉวนเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา องค์กรภาคเอกชนและหมู่คณะต่างๆ ได้ทุ่มเทกำลังในการบูรณะฟื้นฟูเขตประสบภัยแผ่นดินไหว พวกเขาได้รวบรวมสิ่งของจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยสร้างโรงเรียน ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาลและองค์กรสวัสดิการใหม่ และใช้ความพยายามอย่างไม่ระย่อท้อถอย ในการช่วยเหลือทางใจและกายกับผู้ประสบภัย
การเกิดแผ่นดินไหว ทำให้อาคารเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนเสี้ยวฉวนเมืองเต๋อหยางมณฑลเสฉวนพังทลายหมด อาคารเรียนในส่วนของชั้นมัธยมต้นก็เสียหายอย่างมาก นักเรียนกว่า 2,000 คนของโรงเรียนนี้ต้องเรียนหนังสือในอาคารชั่วคราว หลังจากเริ่มต้นโครงการบูรณะฟื้นฟูแล้ว กองทุนฉือจี่ไต้หวันได้บริจาคเงินทั้งหมดในการก่อสร้างใหม่ นายโจว จื้อ เล่อ อธิบดีกรมการศึกษาเขตจิงหยางเมืองเต๋อหยางกล่าวว่า โรงเรียนใหม่จะมีห้องเรียน 30 ห้อง เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นักเรียนก็สามารถย้ายเข้าในห้องเรียนที่สร้างขึ้นใหม่ กว้างใหญ่ สว่างและปลอดภัย
โรงเรียน โรงพยาบาลและระบบสาธารณูปโภคได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโออีกมากมาย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิการกุศลจงหวาประกาศตัวเลขปรากฏว่า จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิได้รับเงินบริจาคและสิ่งของรวมมูลค่าประมาณ 1,100 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ 80% ใช้ในการก่อสร้างบ้านพักของผู้ประสบภัย โรงเรียน โรงพยาบาล บ้านพักคนชราและบ้านเด็กกำพร้า เป็นต้น
นายจาง ซิน กั๋ว รองเลขาธิการมูลนิธิการกุศลจงหวากล่าวว่า ปัจจุบัน โรงเรียนที่มูลนิธิจงหวาช่วยเหลือนั้น ล้วนได้เริ่มก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะเสร็จในเดือนกันยายนปีนี้ เขากล่าวว่า มูลนิธิจะติดตามผลการก่อสร้างของเขตประสบภัยต่อไปอีกนาน
"การสร้างโรงเรียนใหม่ การสร้างบ้านพักใหม่ และการฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างขั้นพื้นฐาน ล้วนต้องทุ่มเทกำลังอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการรักษาอาการบาดเจ็บให้คนพิการ การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในด้านจิตใจ ต่างต้องทุ่มเทกำลังต่อไป"
นายหวาง จุน ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างสรรค์ใหม่หลังประสบภัยของกองทุนช่วยเหลือผู้ยากจนแห่งประเทศจีนกล่าวว่า นอกจากรับสิ่งของบรรเทาภัยและก่อสร้างที่พักชั่วคราวแล้ว พวกเขายังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการผลิตของเกษตรกร ปัจจุบัน กองทุนช่วยเหลือผู้ยากจนแห่งประเทศจีนได้ใช้หมู่บ้านหมินเย่วเมืองเหมียนหยางเป็นเขตสาธิต สร้างสหกรณ์พัฒนาเศรษฐกิจหลังประสบภัยระดับหมู่บ้านร่วมกัน เพื่อสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นให้เกษตรกรในการริเริ่มทำการเกษตรใหม่
"เกษตรกรจะพัฒนาการผลิตอย่างไร เพื่อฟื้นฟูระดับการผลิตให้เท่ากับช่วงก่อนเกิดแผ่นดินไหว ในฐานะเป็นเอ็นจีโอ เราหวังว่า การผลิตจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และได้มาตรฐานด้วย แต่ก่อนจะให้เงินเกษตรกรบ้านละประมาณ 5,000 หยวน แต่ขณะนี้ เราจะรวบรวมเงินก้อนนี้ตั้งเป็นสหกรณ์พัฒนาเศรษฐกิจหลังประสบภัยระดับหมู่บ้านร่วมกัน เงินทุนดังกล่าวเป็นกองทุนริเริ่มของสหกรณ์"
องค์การภาคเอกชนของจีนได้เข้าร่วมการต่อต้านแผ่นดินไหวและบรรเทาภัยอย่างแข็งขัน ตั้งแต่รวบรวมสมทบเงิน จนถึงการให้คำปรึกษาด้านจิตใจ ตั้งแต่การขนส่งสิ่งของจนถึงการสร้างสรรค์ใหม่ ได้สนองความต้องการระดับต่างๆของผู้ประสบภัย โดยเฉพาะการดูแลครอบครัวที่มีญาติเสียชีวิตไป การดูแลผู้บาดเจ็บและพิการ การดูแลพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เด็กและผู้หญิง การรักษาโรคทางจิตให้ผู้ประสบภัยและผู้บรรเทาภัย เป็นต้น ต่างได้แสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบขององค์การภาคเอกชนที่ต่างกันกับหน่วยงานรัฐบาล
ผิง
|