การประชุมภูมิอากาศโลกครั้งที่ 3 (WCC-3) กำหนดจะจัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคมถึงวันที่ 4 กันยายนที่จะถึงนี้ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ซึ่งเป็นองค์การสังกัดสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพจัดงาน โอกาสนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับการประชุมฯ ดังกล่าวขึ้นที่กรุงไนโรบี โดยได้แถลงถึงการเตรียมการประชุมฯ และกำหนดคำขวัญของการประชุมฯ ว่า "บริการข้อมูลข่าวสารด้านดินฟ้าอากาศให้ดีกว่านี้ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า (Better climate information for a better life)"
การประชุมภูมิอากาศโลกเคยจัดมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 1979 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 1990 การประชุมฯ 2 ครั้งดังกล่าวมีความสำคัญในการเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศให้มากขึ้น และใช้ปฏิบัติการที่เป็นจริง การแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสตีเฟน เอ็นโจรอจ ผู้แทนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประจำแอฟริกาได้ทบทวนผลการประชุมฯ ในครั้งก่อนๆ และตั้งความหวังเกี่ยวกับการประชุมฯ ที่จะเปิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ว่า
"การประชุมฯ ครั้งนี้จะเป็นการประชุมรูปแบบใหม่ในทุกด้าน ส่วนการประชุมฯ ในครั้งก่อนๆ ก็เคยได้รับผลสำเร็จต่างๆ เช่นกัน คือ การประชุมภูมิอากาศโลกครั้งที่ 1 ช่วยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ (IPCC) และการประชุมภูมิอากาศโลกครั้งที่ 2 ช่วยให้มีการลงนาม 'อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ' (UNFCCC) สำหรับการประชุมฯ ในครั้งนี้ เราหวังว่า แต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมฯ จะสามารถลงนามในอนุสัญญาฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า 'การบริการข้อมูลข่าวสารด้านดินฟ้าอากาศโลก' ได้"
ข่าวแจ้งว่า การประชุมภูมิอากาศโลกครั้งนี้มี 4 ประเด็น ได้แก่ ศาสตร์เกี่ยวกับการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ การแบ่งปันผลิตภัณฑ์จากการพยากรณ์อากาศของทั่วโลกและการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด การพยากรณ์อากาศกับประสิทธิผลทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจน บทบาทของการพยากรณ์อากาศในขณะกำหนดนโยบาย ดร.โจเซฟ อาร์. มูคาบานา ผู้อำนวยการสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติเคนยาระบุในการแถลงข่าวว่า
"ปัจจุบัน รัฐบาลทุกประเทศก็ต้องแบกรับหน้าที่อันพังมี เพิ่มงบประมาณสำหรับการเสริมสร้างระบบเครือข่ายการติดตามและสำรวจทางอุตุนิยมวิทยาให้สมบูรณ์แบบ ยกตัวอย่างเคนยา ขณะนี้เคนยามีสถานีติดตามและสำรวจทางอุตุนิยมวิทยาทั้งหมด 36 สถานี ต้องดำเนินงานอย่างไม่หยุดยั้งตลอด 24 ชั่วโมง จึงจะครอบคลุมถึงทุกพื้นที่ได้ ฉะนั้น ผมจึงฝากความหวังไว้กับการประชุมฯ ครั้งนี้อย่างมาก เพราะที่ประชุมฯ จะเรียกร้องทุกประเทศให้พัฒนาระบบเครือข่ายการติดตามและสำรวจทางอุตุนิยมวิทยาให้ทันสมัยยิ่งๆ ขึ้น"
ภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกจับตามองกันมาโดยตลอด การประชุมภูมิอากาศโลกครั้งนี้ย่อมจะมีส่วนช่วยต่อการดำเนินโครงการหลังพิธีสารเกียวโต โดยให้การสนับสนุนทางทฤษฎีตามหลักวิทยาศาสตร์ที่จำเป็น
|