"ชูเออร์" มีประวัติยาวนานถึงกว่า 1600 ปี ในชนเผ่าทูวาส มีเรื่องเล่าที่สวยงาม และลงความเห็นกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ "ชูเออร์" นายไทวาน ชาวทูวาสท้องถิ่นบอกว่า
"เล่ากันว่า ชาวปศุสัตว์คนหนึ่งได้ยินเสียงที่ไพเราะมากในขณะที่เลี้ยงสัตว์อยู่ เขาจึงตามหาเสียงนั้น จนพบสาเหตุของเสียงว่ามาจากต้นหญ้าไส้กลวง เวลาเป่าจะมีเสียงส่งออกมา เขาจึงถอนเอาต้นหญ้านี้กลับไป ตั้งแต่นั้นมา เครื่องดนตรีชูเออร์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เวลาทำชูเออร์ จะใช้วัตถุที่เรียกว่าต้นหญ้าจาลาต ซึ่งเป็นต้นหญ้าที่ไส้กลวง ชาวปศุสัตว์ได้ทดลองเจาะเป็น 10 รูบ้าง 5 รูบ้าง และ 3 รูบ้าง สุดท้ายจึงตกลงว่า เจาะ 3 รูดีที่สุด ซึ่งสามารถเป่าออกมาได้หลายเสียง และไพเราะมากกว่า"
นายไทวานบอกว่า การบรรเลง "ชูเออร์" ไม่ได้เพื่อให้คนอื่นฟัง แต่กลับเป็นรูปแบบการติดต่อระหว่างกันของชาวทูวาสกับธรรมชาติ เขากล่าวว่า
"เวลาเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าเรามักจะเป่าให้วัว แพะและม้าฟัง พวกมันก็จะหยุดกินหญ้า มาฟังเสียงของชูเออร์ ซึ่งเป็นเสียงที่ไพเราะมาก"
"ชูเออร์"เป็นเครื่องดนตรีที่เน้นการแสดงความรักและความเศร้าใจ ในพิธีแต่งงาน เทศกาลและกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ต่างๆมักจะได้ยินเสียง "ชูเออร์" และได้เห็นผู้บรรเลงใช้วิธีการบรรเลงชูเออร์เพื่อปลอบใจผู้คนที่ยากลำบากในชีวิตหรือความเศร้าเสียใจในงานศพ เสียงที่บรรเลงด้วยชูเออร์ได้ผสมเสียงต่างๆของธรรมชาติ เช่น เสียงลมพัด เสียงวัวและแพะ เสียงนกขันเป็นต้น นายไทวานกล่าวว่า
"เสียงของชูเออร์มาจากธรรมชาติ เช่น เสียงลูกคลื่นของทะเลสาบคานาซือ เสียงน้ำไหล เสียงของนกประเภทต่างๆในป่าคานาซือ ซึ่งล้วนเป็นเสียงธรรมชาติที่มีทุกคนรู้จักและไพเราะที่สุด และนี่ก็คือชูเออร์ เครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวทูวาสชนชาติมองโกลของเรา"
แต่ชูเออร์ที่ได้สืบทอดกันมากว่าหลายร้อยปีต้องเผชิญกับสภาพการณ์ที่อาจจะสูญเสียไป เพราะเมื่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้รับการพัฒนา ชาวทูวาสเริ่มสัมผัสกับโลกภายนอก มีวัยรุ่นจำนวนน้อยมากที่สามารถบรรเลงชูเออร์ได้ นายเอฟเดสที่ถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นผู้สืบทอดคนสุดท้ายที่ช่ำชองในการบรรเลงชูเออร์ของชาวทูวาส เราเคยสัมภาษณ์่ท่านไว้เมื่อ 3 ปีก่อน และได้บันทึกเสียงการบรรเลงของท่านไว้ด้วย
นายเอฟเดสเคยเป็นผู้มีชื่อเสียงของชนเผ่าทูวาส นักท่องเที่ยวไปถึงคานาซือ มักจะไปฟังชูเออร์ที่บ้านเอฟเดส แต่ลูกชาย 3 คนของนายเอฟเดสไม่มีสักคนที่ชอบบรรเลงชูเออร์ ทำให้นายเอฟเดสเสียดายมาก ลูกชายคนโตทำการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของลูกชายคนโตในครอบครัวชาวทูวาส ส่วนลูกชายคนสุดท้องอายุยังน้อยมาก มีแต่นายมันคห์ ลูกชายคนที่ 2 ที่มีแววในการเรียนชูเออร์ เขาสามารถเป่าได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่สัมผัสกับชูเออร์ นายเอฟเดสจึงเลือกนายมันคห์เป็นผู้สืบทอดของการบรรเลงชูเออร์
"พ่อของผมเป็นผู้สืบทอดชูเออร์ พ่อเคยบอกผมว่า ในวันข้างหน้า ต้องเรียนชูเออร์ต่อไป แขกที่มาจากถิ่นไกลชอบฟังชูเออร์ ตอนแรก ผมก็ไม่อยากเรียน แต่พี่น้อง 3 คนของเราต้องมีคนหนึ่งเป็นผู้สืบทอดต่อจากพ่อ ผมขอบคุณพ่อมากๆ"
ปัจจุบัน นายมันคห์เรียนมาได้ 10 ปีแล้ว ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ เขาฝึกฝนทุกวัน และสามารถบรรเลงได้หลายเพลงอย่างครบถ้วน เขตการท่องเที่ยวคานาซือได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีผู้คนจำนวนมากเริ่มสนใจชาวทูวาสและชูเออร์ ปัจจุบัน แขกที่มาจากต่างถิ่นจึงมักแวะเวียนมาฟังการบรรเลงชูเออร์ของนายมันคห์
"ผมเรียนมาได้ 10 ปีแล้ว ชูเออร์เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของชนชาติเรา พ่อของผมเป็นผู้บรรเลงชูเออร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ผมจึงต้องเรียนต่อไป และจำเป็นต้องสืบทอดเครื่องดนตรีของเขา ผมหวังว่า เพื่อนๆชาวต่างประเทศก็จะได้มีโอกาสรับฟังเสียงชูเออร์ของเรา"
เมื่อเรากำลังจะลาจากหมู่บ้านไป แสงอาทิตย์ส่องกระทบบ้านไม้ของชาวทูวาส ในรางป่า มีเสียงชูเออร์ที่ละมุนละไมดังขึ้นมา เคยมีคนเป็นห่วงว่า เมื่อสิ้นนายเอฟเดสถึงแก่กรรมไปแล้ว จะไม่ได้ยินเสียงบรรเลงชูเออร์อีก แต่ในปัจจุบัน นอกจากนายมันคห์แล้ว มีวัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านเริ่มเรียนการบรรเลงชูเออร์บ้างแล้ว
ท่านผู้ฟังคะ รายการของวันนี้ขอยุติลงเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ 1 2
|