ทะเลสาบสือช่าไห่ที่กินอาณาบริเวณย่านใจกลางกรุงปักกิ่งประกอบด้วยทะเลสาบ 3 แห่งคือ เฉียนไห่ โฮ่วไห่และซีไห่ เมื่อท่านผู้ฟังมาเที่ยวปักกิ่ง สือช่าไห่เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่น่าชม
จริงๆ แล้ว"ไห่"แปลว่า "ทะเล" แต่ในปักกิ่ง ทะเลสาบทุกที่ถูกเรียกว่าทะเล นอกจากสือช่าไห่ ยังมีทะเลสาบอยู่อีกหลายแห่ง อาทิ อุทยานเป่ยไห่และจงหนันไห่ การที่ชาวจีนสมัยโบราณนิยมเรียกทะเลสาบเป็นทะเลนั้น มีความเป็นมาจากเทพนิยายของจีนซึ่งได้รับอิทธิพลความเชื่อจากลัทธิเต๋า เทพนิยายเรื่องนั้นเล่าว่า กลางทะเลตงไห่มีภูเขาเทวดาอยู่ 3 ลูกมีชื่อว่า เผิงไหล หยิงโจว และฟางจ้าง บนภูเขามียาอายุวัฒนะที่กินแล้วไม่แก่ และมีอายุยืน บรรดาจักรพรรดิในราชวงศ์ต่างๆ ของจีนมีความหวังอันแรงกล้าที่จะมีอายุยืนจะได้ปกครองแผ่นดินตลอดไป จึงได้ทุ่มเทกำลังสุดชีวิตออกทะเลไปตามหาภูเขา 3 ลูกดังกล่าว ในการก่อสร้างอุทยานก็เช่นกัน จักรพรรดิจีนในสมัยก่อนก็พยายามจำลองแบบมาจากเทพนิยาย ดังนั้น กลางทะเลสาบของอุทยานต่างๆจึงมักมีเกาะ 3 เกาะเป็นสัญลักษณ์ แทนภูเขาสามลูกดังกล่าว ส่วนทะเลสาบนั้นก็เปรียบเหมือนเป็นทะเลตงไห่ นี่คือสาเหตุที่ชาวปักกิ่งนิยมเรียกทะเลสาบว่า ไห่หรือทะเลนั่นเอง
บริเวณรอบทะเลสาบสือช่าไห่เป็นย่านหูท่งหรือตรอกเล็กซอนน้อยที่ตัดต่อถึงกันเหมือนตาหมากรุกใหญ่แห่งหนึ่ง รายรอบไปด้วยซื่อเหอย่วน หรือบ้านในรูปแบบดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง ซื่อเหอย่วนประกอบขึ้นด้วยบ้านสี่หลังซึ่งตั้งล้อมรอบและหันหน้าเข้าหาลานบ้านเดียวกัน เป็นที่พักอาศัยของชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวปักกิ่ง มีตั้งแต่อดีตบ้านพักของมาดามซ่ง ชิ่งหลิง ภริยาของดร.ซุน ยัตเซ็น ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ซ่ง ชิ่งหลิง ในย่านนี้ ยังเป็นแหล่งรวมซื่อเหอย่วนที่เคยเป็นบ้านของศิลปิน นักคิด นักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายท่านอย่าง นาย เหม่ย หลันฟาง ศิลปินงิ้วปักกิ่ง นายกัว มั่วรั่ว นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของจีน ซื่อเหอย่วนเหล่านี้จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกถึงศิลปินเหล่านั้น
บ้านเรือนบริเวณด้านหน้ารอบทะเลสาบนั้น ได้ถูกแปลงโฉมไปในระหว่างการพัฒนาเมืองช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผับ บาร์ ร้านกินดื่มสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ ร้านขายสินค้าศิลปะพื้นบ้านหลากหลายและรถลากสามล้อแบบสมัยก่อนคอยบริการนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมซื่อเหอย่วน ชีวิตในหูท่ง สัมผัสบรรยากาศคลาสสิกแห่งนครเก่าปักกิ่ง หรือที่จีนเรียก "เหล่าเป่ยจิง"
หูท่งในบริเวณสือช่าไห่ และหูท่งหอระฆังที่อยู่ไม่ไกลกันนัก สามารถเดินถึงกันได้นั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของนครปักกิ่ง เป็นย่านหูท่งที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี บางตรอกซอยมีซื่อเหอย่วนอายุเก่าแก่นับหลายร้อยปี
อย่างไรก็ตาม หูท่งก็ยังคงเป็นบ้านเป็นรังสุดรักของชาวปักกิ่ง ซึ่งใช้ชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงพัฒนารูปโฉมใหม่ของบ้านเมือง รอบทะเลสาบยังคงมีชาวปักกิ่งออกมานั่งตกปลา บ้างเดินเล่นนั่งเล่น บ้างจูงลูกหลานออกมาเที่ยวในสนามเด็กเล่น ชายสูงอายุแขวนกรงนกไว้ตรงกิ่งต้นท้อ เข้าไปร่วมวงเล่นไพ่นกกระจอกกลางสวน ผู้เฒ่านั่งสีซอจีนใต้ร่มไม้ยามเย็น
ชาวต่างชาติหลายคนที่มาเยือนนครปักกิ่ง ได้เห็นชีวิตของชาวปักกิ่งรากหญ้าที่อาศัยตามหูท่ง ไปถึงบ้านเรือนหลายครอบครัว ต่างก็หลงมนต์เสน่ห์ของชีวิตในหูท่ง ไม่เพียงเพราะรูปทรงคลาสสิกของบ้านเรือนที่สร้างจากแนวคิดปรัชญาจีน พวกเขาต่างประทับใจภาพชาวจีนที่นั่งเล่น ออกกำลัง รำมวยจีน คนเฒ่าคนแก่พูดคุยโอ้อวดหรืออาจปรับทุกข์เรื่องลูกหลาน ทั้งหมดนี้สรุปแล้วมันก็เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ที่อบอุ่น เป็นความสุขที่ชาวหูท่งพึงมีและพึงพอใจกับชีวิต
เมื่อท่านไปเดินท่ามกลางตรอกเล็กซอยน้อยในเขตสือช่าไห่ ท่านจะได้สัมผัสกับบรรยากาศอันเงียบสงบ หลุดพ้นออกจากความจอแจและความตึงเครียดของสังคมสมัยใหม่รอบตัวท่านได้ชั่วครู่ชั่วยาม บ้านพักสีเทาเตี้ยๆ ในซอยเหล่านี้ เป็นเครื่องบ่งบอกถึงกาลเวลาที่ล่วงเลยไป ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่บ้านเหล่านี้ก็สืบทอดนิสัยของคนยุคก่อนที่ประหยัดมัธยัสถ์และมีน้ำ้ใจงดงาม บริเวณปากซอยมักมีผู้เฒ่่าผู้แก่จับกลุ่มเล่นหมากรุกฆ่าเวลากัน ใต้หลังคาก็มีเสียงนกพูดคุยร้องเพลงไพเราะเสนาะหู ยืนยันถึงวิถีชีวิตที่ผ่อนคลายของชาวหูท่งอันเก่าแก่ของกรุงปักกิ่ง
---------------------------------------------------------------
คำถาม บ้านพักเก่าแก่ของชาวปักกิ่งที่มีลานบ้านสี่เหลี่ยมและบ้านทุกหลังหันหน้าเข้าหากันเรียกว่าอะไร?
กรุณาส่งคำตอบทาง sms โดยพิมพ์ CI เว้นวรรคตามอ้วยคำตอบ แล้้วส่งมาที่ 4554523
|