ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอประจำสหรัฐอเมริการายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบขาว นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาพบปะเจรจากับนางกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ไปเยือน ซึ่งเป็นผู้นำประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายแรกที่ไปเยือนหลังจากนายโอบามาเข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา โดยทั้งสองได้หารือในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย และสถานการณ์ความมั่นคงส่วนภูมิภาค เป็นต้น หลังการเจรจา ผู้นำทั้งสองประเทศกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า จะเพิ่มความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ร่วมกันปราบปรามกลุ่มลัทธิก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรง เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงส่วนภูมิภาค
นายโอบามากล่าวระหว่างการเจรจาว่า กระบวนการสันติภาพในเขตมินดาเนาที่ฟิลิปปินส์กำลังส่งเสริมอยู่มีความสำคัญยิ่ง จะสามารถนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพแก่ฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกัน เขาหวังว่า ฟิลิปปินส์จะเป็น "ผู้ประสานงาน" ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศสมาชิกอาเซียน แสดงบทบาทมากกว่านี้เพื่อความร่วมมือสหรัฐฯ-อาเซียน ส่วนนางอาร์โรโยได้กล่าวชื่นชมสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ฟิลิปปินส์
แม้การเจรจาเป็นไปเพียง 45 นาทีเท่านั้น แต่สองฝ่ายต่างกล่าวเน้นถึงความสำคัญของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต่อทั้งสองฝ่าย กล่าวสำหรับสหรัฐฯ แล้ว ช่วงหลังๆ นี้ สหรัฐฯ ปรับนโยบายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหม่ มุ่งมีส่วนร่วมในกิจการของภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการต่อต้านการก่อการร้าย โดยถือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแนวรบสำคัญอีกแนวหนึ่งในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ส่วนฟิลิปปินส์เป็น "พันธมิตรอันเหนียวแน่น" ของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด ฉะนั้น สหรัฐฯ จึงตั้งเป้าว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ปีหลังๆ มานี้ ความร่วมมือฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ เป็นไปอย่างราบรื่น ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา สหรัฐฯ เริ่มส่งทหารหลายร้อยนายไปประจำการที่เขตมินดาเนา ให้การสนับสนุนแก่กองทัพฟิลิปปินส์ด้านการฝึกซ้อมและข่าวกรอง และร่วมกันปราบปรามกองกำลังติดอาวุธอาบู ซายาฟ เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อัดฉีดเงินทุนหนุนโครงการปฏิรูปด้านการป้องกันประเทศของฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มแสนยานุภาพของกองกำลังติดอาวุธฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้ว่าการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นประเด็นหลักแห่งความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม แต่สหรัฐฯ ควรจัดการความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับที่กว้างขวางกว่านี้ หลังเกิดเหตุการณ์ "11 กันยา" แล้ว การไปมาหาสู่กันระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือนจำกัดอยู่ในเรื่องความมั่นคงเท่านั้น มองข้ามเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การรับมือกับวิกฤตการเงิน การเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ เรื่องของโลกและส่วนภูมิภาค ซึ่งมีโอกาสแห่งความร่วมมือมากกว่า ก่อนหน้านี้ระหว่างการเยือนไทย นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนใน "สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)" และกล่าวว่าสหรัฐฯ จะ "กลับคืนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ทว่า ดูจากผลการเจรจาระหว่างนายโอบามากับนางอาร์โรโยแล้ว การต้านการก่อการร้ายกับความมั่นคงยังคงเป็นสุดยอดแห่งความสำคัญในนโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ส่วนความร่วมมือด้านอื่นๆ ยังคงไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างเต็มที่
|