ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ไป ทางรายการขอเปลี่ยนบรรยากาศมาติดตามเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับไทยกันหน่อยนะครับ ซึ่งวันนี้จะเสนอเรื่อง สถาบันขงจื๊อ สะพานวัฒนธรรมที่เชื่อมชาวจีนและไทยเป็นตอนแรกครับ
ในช่วงหลายปีมานี้ ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียนนับวันใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนต่างอยู่ในช่วงระยะเวลาที่พยายามพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ต่างถือการพัฒนาการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ สองฝ่ายจึงมีศักยภาพสูงในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย การอบรมบุคลากร การแลกเปลี่ยนนักศึกษา การเรียนภาษา และร่วมมือกันทำการวิจัยทางวิชาการ ในช่วงระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ "งานสัปดาห์แลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียนครั้งแรก" เมื่อปี 2008 จัดขึ้นเป็นต้นมา การไปมาหาสู่กันระหว่างผู้บริหารชั้นสูงในวงการการศึกษาของสองฝ่ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายโจวจี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจีนเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ และในครึ่งแรกปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเวียดนาม สิงคโปร์ ไทย และลาวก็ได้เดินทางมาเยือนจีนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างกลไกแลกเปลี่ยนนักศึกษา รับรองหน่วยกิจของกันและกันเป็นต้น นอกจากนี้ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จีนกับไทยยังได้ลงนาม "ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาจีน ไทย" ทั้งนี้เป็นการปูพื้นฐานให้ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน เดือนสิงหาคมนี้ "งานสัปดาห์แลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียนครั้งที่ 2 " จัดขึ้นที่เมืองกุ้ยหยางอันสวยงามของจีนอีกครั้ง ผู้แทนวงการการศึกษากว่า 300 คนจากมหาวิทยาลัย 70 แห่งของจีนและอาเซียนได้ชุมนุมกันเพื่ออภิปรายวิธีส่งสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียนอย่างจริงจัง ผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยของไทย 6 แห่งก็ได้เข้าร่วมงานนี้ ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม และ ดร.เอมอร วสันตวิสุทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า ควรผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษากับจีนอย่างจริงจัง
เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับไทย สถาบันขงจื๊อนับเป็นโครงการสำคัญมากอย่างหนึ่ง ในช่วงหลายปีมานี้ การติดต่อไปมาหาสู่กันระหว่างจีนกับไทยเป็นไปอย่างใกล้ชิดมาก ชาวไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนไทยอยากเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์จีนมากขึ้น จีนได้ก่อตั้งสถาบันขงจื๊อในอาเซียน 18 แห่ง ในจำนวนนี้ เฉพาะไทยมีถึง 13 แห่ง สถาบันขงจื๊อเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้ชาวไทยที่สนใจเรื่องจีนมีโอกาสเรียนภาษาและสัมผัสวัฒนธรรมจีน หากยังช่วยทางฝ่ายไทยอบรมผู้สอนภาษาจีนชาวไทยด้วย ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์เห็นว่า การเปิดสถาบันขงจื๊อทำให้ชาวไทยมีโอกาสเรียนภาษาจีนมาตรฐาน
1 2
|