จีนกับอาเซียนมีการติดต่อไปมาหาสู่กันตั้งแต่โบราณกาล ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองฝ่ายก็ดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ทั้งสองฝ่ายมีทรัพยากรการศึกษาที่สนับสนุนส่งเสริมกันและกันหลายประการ ในรายการครั้งที่แล้ว เราได้คุยเรื่องความร่วมมือที่มีอยู่แล้วระหว่างมหาวิทยาลัยจีนและไทยกับ ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณบุญญารัตน์ สุวรรณจินดาผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล รายการวันนี้ เราจะเชิญดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.เอมอร วสันตวิสุทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลมาคุยเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนและไทยต่อนะครับ
เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนและไทยให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดร.เอมอร วสันตวิสุทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเห็นว่าสองฝ่ายมีศักพภาพสูงในการผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน
"ระบบการศึกษาในจีนกับประเทศในอาเซียนมีความเกี่ยวพันกันในแง่ของประเพณี วัฒนธรรม
ค่านิยมในการศึกษาที่ครอบครัวส่งเสริมให้ลูกได้ร่ำเรียนมากที่สุด อยากให้เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด ทั้งนี้เป็นลักษณะคล้ายคลึงกันหมดทั้งในจีนและประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ลูกศิษย์ยังเคารพครูบาจารย์ ครูก็จะรับผิดชอบในการดูแลลูกศิษย์ ทั้งนี้แสดงว่า จีนและประเทศอาเซียนมีทรัพยากรการศึกษาที่เกี่ยวข้องกัน จึงสมควรที่จะร่วมมือกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพราะถือว่าสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ดี ในอนาคต ความร่วมมืออันดับต้นๆจะเป็นความร่วมมือด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ผูกโยงกันมากับภาษา เรื่องของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เรื่องของการแพทย์พื้นบ้าน เรื่องของความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในทางตะวันออกกำลังเป็นที่น่าสนใจสำหรับชาวตะวันตก เราจะทำให้ความรู้เหล่านี้มีความมั่นคง ทำให้ประเทศอาซียนก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยกัน "
ส่วนดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า ในด้านการศึกษา จีนและไทยมีลักษณะส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน
"ทางอาเซียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงอยู่มาก ในขณะเดียวกัน ทางประเทศจีนก็ก้าวหน้าไปไกล จีนมีบุคลากรที่มีความสามารถสูง ได้ทุ่มเททำงานวิจัยมาเป็นเวลานาน ตอนนี้คงจะต้องมีการวิเคราะห์และน่าคิดจริงๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าของทั้งสองฝ่ายให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ในยุคนี้เราควรทำงานร่วมกันแบบหุ้นส่วนซึ่งมีความเท่าเทียมกัน แล้วได้ประโยชน์ร่วมกัน ตรงนี้เป็นจุดยืนที่สำคัญ ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาที่ดีต่อกัน ก็จะทำให้เราสามารถนำทรัพยากรที่มีคุณค่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้"
จีนและไทยมีศักพภาพสูงในการผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษา เราหวังว่า ในอนาคต ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายจะเป็นไปอย่างลุ่มลึกและกว้างขวางยิ่งขึ้น สำหรับรายการวันนี้ หมดเวลาลงเพียงเท่านี้ พบกันใหม่สัปดาห์หน้ากับรายการสัมผัสชีวิตจีน สวัสดีครับ
|