สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกับรายการสัมผัสชีวิตจีนอีกครั้งทางสถานีวิทยุซีอาร์ไอแห่งนี้เช่นเคยนะครับ ในรายการครั้งที่แล้ว เราได้คุยเรื่องศักยภาพแห่งความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนและไทยกับดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณบุญญารัตน์ สุวรรณจินดาผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทั้งสองท่านเห็นว่า ระบบการศึกษาในจีนกับประเทศในอาเซียนมีความเกี่ยวพันกันในแง่ของประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมในการศึกษา นอกจากนี้ ในด้านการศึกษาสองฝ่ายยังมีลักษณะส่งเสริมสนับสนุนกัน เช่น ทางอาเซียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงอยู่มาก ในขณะเดียวกัน ทางประเทศจีนก็รุดหน้าไปไกล มีบุคลากรที่มีความสามารถสูง และได้ทุ่มเททำงานวิจัยมาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้น น่าจะใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าของทั้งสองฝ่ายให้เกิดประโยชน์ต่อกันมากยิ่งขึ้น
ท่านผู้ฟังครับ เมื่อสองฝ่ายมีทรัพยากรการศึกษาที่ส่งเสริมสนับสนุนกันและกันเช่นนี้ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไทยที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอจึงมีความปรารถนาร่วมกันที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยของจีนอย่างจริงจัง วันนี้ เราจะคุยกับ ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยามในเรื่องอนาคตความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับไทยว่า ควรจะขยายความร่วมมือในด้านไหนอีกบ้าง
ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์เห็นว่า ในอนาคต มหาวิทยาลัยของไทยน่าจะขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยของจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
"จีนไม่เพียงแต่เก่งในด้านภาษาเท่านั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนก็ทันสมัยมาก ตรงนี้ที่เราอยากสร้างความสัมพันธ์ในศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ตอนนี้ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยปักกิ่งกับจุฬาฯ เริ่มจับคู่กันทำการวิจัยแล้ว"
ส่วนนายพรชัย มงคลวนิช ก็แสดงความปรารถนาที่จะขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของจีนว่า
"ในอนาคต เราน่าจะมีหลักสูตรร่วมกัน อย่างหลักสูตรทางด้านบริหารธุรกิจ ถ้าหากนักศึกษาจะศึกษาบางวิชาในประเทศไทย บางวิชาในประเทศจีน เมื่อสำเร็จการศึกษา ก็สามารถที่จะทำกิจการได้ทั้งที่ประเทศไทยและประเทศจีน เราต้องเตรียมความพร้อมผู้ที่เป็นผู้นำทางธุรกิจ และสังคมของทั้งสองประเทศ ผมอยากเห็นว่ามีการเปิดหลักสูตรการบริหารธุรกิจระดับปริญญาโท โดยอยากให้เรียนที่ประเทศไทย 1-2 เทอม แล้วเรียนที่ประเทศจีน 1-2 เทอม ซึ่งคนที่สำเร็จหลักสูตรเหล่านี้ก็จะมีความพร้อม เข้าใจไม่เฉพาะหลักการทางธุรกิจ และก็จะเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมของสองประเทศด้วย นอกจากนี้ อยากเห็นการแลกเปลี่ยนของคณาจารย์ที่มีความรู้ทางด้านต่างๆ อาจจะเป็นการทำวิจัยร่วมกัน ที่สำคัญที่สุดคืออยากจะให้มีความร่วมมือที่ยั่งยืน และหยั่งรากลึกลงไปจนถึงระดับนักเรียนและนักศึกษา"
ท่านผู้ฟังครับ ภายใต้ภูิมิหลังแห่งกระแสโลกาภิวัตน์นับวันรุนแรงขึ้น จีนและกลุ่มประเทศอาเซียนควรทำอย่างไรจึงสามารถรักษาลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้ ทำอย่างไรจึงสามารถเผยแพร่วัฒนธรรม และค่านิยมของตนให้เป็นที่ยอมรับแก่ชาวโลกได้อย่างกว้างขวาง จึงเป็นประเด็นที่น่าคิดจริงๆ ซึ่งผู้จัดรายการเห็นว่า มีแต่ความร่วมมือเท่านั้น จึงจะทำให้เราเข้าใจกัน และให้ความเคารพแก่กัน ในที่สุดจึงสามารถช่วยกันแสดงบทบาทบนเวทีวัฒนธรรมโลกได้ หวังว่าความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับไทยจะพัฒนาสู่ขั้นตอนใหม่ในเร็ววันนี้ รายการวันนี้หมดเวลาลงเพียงท่านี้ พบกันใหม่สัปดาห์หน้ากับรายการสัมผัสชีวิตจีน สวัสดีครับ
|