จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยได้สถาปนาขึ้นครบรอบ 34 ปีแล้ว ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ต่างรักษาความเชื่อมั่นทางการเมืองในระัดับสูงต่อกัน และได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด การไปมาหาสู่กันของประชาชนสองประเทศก็นับวันบ่อยครั้งขึ้น ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ของทั้งสองฝ่าย จีนกับไทยที่สนิทกันฉันพี่น้อง ได้ดำเนินความร่วมมืออย่างมีประสิทธิผลในด้านการต่างประเทศ เศรษฐกิจการค้า วัฒนธรรมและการศึกษา ฯลฯ และได้สร้างคุณูปการมากต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค เป็นผลงานสำคัญยิ่งในโลกปัจจุบันซึ่งสงคราม การปะทะ ความวุ่ีนวายและความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น สรุปได้ว่า รูปแบบการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทย สมควรเป็นที่พิจารณาไตร่ตรองของบุคคลผู้รักสันติภาพและการพัฒนาของโลกทั้งปวง เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์นายจาง จิ่วหวน อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำไทย รายการวันนี้ ผมขอนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาแป่งปันกับคุณผู้ฟังครับ
นายจาง จิ่วหวนเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อ 40 ปีก่อน ในทศวรรษ 1970 ท่านได้เข้าร่วมการเจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทยทั้งกระบวนการ และท่านดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำไทยตั้งแต่ปี 2004 2009 ระหว่างทำงานในประเทศไทย ท่านเคยได้รับเครื่องราชอิสลิยาภรณ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นจากกระทรวงวัฒนธรรม ต่อไป ขอเชิญฟังบทสัมภาษณ์ครับ
ผู้สื่อข่าว: เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมาที่กรุงปักกิ่ง นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนได้พบปะกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนประเทศจีน ประธานาธิบดีหู จิ่นเทากล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยนับเป็นแบบอย่างของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ความร่วมมือฉันมิตร และการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองสมานฉันท์ระหว่างประเทศที่มีระบอบสังคมแตกต่างกัน สำนวนที่ว่า "จีน-ไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" ก็เป็นที่ยอมรับในระดับสูงของประชาชนทั้งสองประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่การทูตอาวุโส ท่านเห็นว่า รากฐานที่ทำให้จีนกับไทยได้สร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้น และดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดคืออะไรครับ
จาง จิ่วหวน: อย่างที่พูด ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยนั้น กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีพื้นฐาน(การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ)ที่กว้างขวางและหนักแน่น ผมคิดว่า รวมแล้วมี 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นที่ 1 คือ มิตรภาพที่สืบทอดกันมาช้านาน เท่าที่ทราบจากพงศาวดารจีน นักธุรกิจจีนได้มาทำการค้าขายในภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน เพราะฉะนั้น ประชาชนชาวจีนกับประชาชนชาวไทยได้สร้างมิตรภาพจากการไปมาหาสู่กันนับเป็นพันๆปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากจีนกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นต้นมา ความร่วมมือกันระหว่างสองฝ่ายยิ่งทำให้ความเข้าใจกันและมิตรภาพได้รับการส่งเสริมให้มากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ 2 คือ ผลประโยชน์ร่วมกัน จีนกับไทยดีต่อกัน จีนกับไทยร่วมมือกันเป็นอย่างดี จึงอำนวยประโยชน์ให้ประชาชนทั้งสองฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น การค้าขายระหว่างจีนกับไทยนั้น หลังจากสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแล้วได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีหลังๆนี้ (ยอดการค้าระหว่างจีนกับไทย)ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ต่อปี ในปี 2008 การค้าขายระหว่างจีนกับประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเด็นที่ 3 คือ จุดมุ่งหมายอันเดียวกัน จีนกับไทยต่างก็ต้องการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงของภูมิภาคนี้ เพื่อที่จะใช้โอกาสพัฒนาประเทศตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากเรามีพื้นฐานอันกว้างขวางดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยจึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วและได้รับผลสำเร็จอันงดงาม
1 2 3
|