สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า การประชุมว่าด้วยภูมิอากาศโลกครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงเจนีวาเมื่อวันที่ 3 กันยายน ผู้นำประเทศเกือบ 20 คน และรัฐมนตรีกว่า 60 คนได้เข้าร่วม ฝ่ายต่างๆเรียกร้องให้เร่งกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ประสบผล และพยายามผลักดันให้การประชุมโคเปนเฮเกนที่จะจัดขึ้นในปลายปี 2009 ประสบผลสำเร็จ
ก่อนหน้านี้ไม่นาน นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติได้ไปเยือนภาคเหนือของนอร์เวยซึ่งอยู่ในทวีปอาร์ดติค เขารู้สึกสะเทือนใจและกังวลมากต่อสภาพที่ชั้นน้ำแข็งละลายเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ เขากล่าวในที่ประชุมว่า จนถึงปลายศตวรรษนี้ ระดับน้ำทะเลอาจจะเพิ่มขึ้น 0.5 2 เมตร ชีวิตของชาวโลกหลายร้อยล้านคนจะเผชิญกับอันตรายโดยตรง โดยเฉพาะเมืองท่าขนาดใหญ่ที่มีประชากรหน้าแน่น เช่น นิวยอร์ค โตเกียว เซี่ยงไฮ้และมุมไบ จะได้รับผลกระทบเร็วกว่าเพื่อน ถ้าไม่ใช้ปฏิบัิติการเร่งด่วนเพื่อยับยั้งแนวโน้มดังกล่าว มนุษยชาติจะต้องประสบความเสียหายอย่างหนักหนาสาหัสในอนาคต ไม่เฉพาะคนรุ่นหลัง คนรุ่นเราก็จะหนีไม่พ้นอยู่แล้ว
นายบัน คี มูนเห็นว่า จำเป็นต้องเร่งกระบวนการเจรจาว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน และเสนอหลักการปฏิบัติว่า ประเทศพัฒนาไม่ควรกำหนดเฉพาะเป้าหมายระยะยาวที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 80% ก่อนปี 2050 เท่านั้น หากยังควรกำหนดเป้าหมายระยะกลางก่อนปี 2030 เพื่อลดการปล่อยให้มากขึ้น อีกด้านหนึ่งประเทศกำลังพัฒนาต้องกำหนดแผนลดการปล่อยฯเช่นกัน ขณะเดียวกัน ประเทศพัฒนาควรถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและให้เงินสนับสนุนมากขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา เลขาธิการสหประชาชาติเน้นว่า เขาจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันกระบวนการเจรจาฯ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้นำประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งประธานาธิบดีคาซักสถาน นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ และผู้นำจากเอธิโอเปีย หมู่เกาะคุก และหมู่เกาะโคโมรอส ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเิทศกำลังพัฒนามีหลายประเทศที่เป็นเกาะหรือติดทะเล ส่วนสหรัฐอเมริกา ประเทศใหญ่ในยุโรป และญี่ปุ่น ถึงแม้ได้ออกเงินสนับสนุนการประชุมครั้งนี้ แต่ไม่ได้ส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปร่วมประชุม ผลวิจัยล่าสุดแสดงว่า ภาวะโลกร้อนยังผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และก่อให้เกิดภัยแล้งและภัยน้ำหลาก ตลอดจนอากาศที่แปรปรวน ประเทศยากจนและประเทศเกาะจะประสบความเสียหายมากที่สุดจากภัยพิบัติดังกล่าว เช้าวันเดียวกัน ผู้แทนจากประเทศเหล่านี้แสดงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ เป็นผลร้ายจากการใช่น้ำมันปิโตรเลียมและการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีต แต่บัดนี้ ประเทศยากจนต้องประสบความเสียหายมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม พวกเขาจึงเรียกร้องอย่างหนักให้ประเทศพัฒนา เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยเหลือประเทศยากจนเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ
นายหุย เหลียงอวี้ รองนายกรัฐมนตรีจีนนำคณะเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยภูมิอากาศโลกครั้งนี้ เขาชี้ว่า ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบ จีนจะยืนหยัดปฏิบัติตามกรอบ "สนธิสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ" และ "พิธีสารเกียวโต" ยึดมั่นในหลักการ "ร่วมรับผิดชอบและมีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน" ผลักดันให้การประชุมโคเปนเฮเกนที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้ได้รับผลสำเร็จ Min/Lu
|