China Radio International
ข่าวภายใน
    ประเทศ
ข่าวต่างประเทศ
 ข่าวการเมืองและ
 การต่างประเทศ
 ข่าวเศรษฐกิจ
 ข่าววัฒนธรรม

 ข่าววิทยาศาสตร์
  เทคโนโลยี่

 ข่าวกีฬา
 ข่าวอื่น
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2009
อ่านต่อ>>

จีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจ

พาเที่ยวจีน

วัฒนธรรม

ชนชาติส่วนน้อย

การเมือง
(GMT+08:00) 2009-09-30 18:08:53    
มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

cri

สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ ในโอกาสที่วันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 60 ปีนี้ สถานีวิทยุซีอาร์ไอได้สัมภาษณ์บุคคลที่เป็นพยานแห่งการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน – ไทย วันนี้ เราจะสนทนากับอาจารย์เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ที่มาสอนในมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งในเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์เล่าว่า

"การติดต่อกันนั้นเริ่มต้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จเยือนจีน แล้วก็มีนักการศึกษาโดยเฉพาะอธิการบดีจากราชภัฎต่างๆ ตามเสด็จมาด้วย ตอนนั้น ศาสตราจารย์ชิวซูหลุนทำหน้าที่ล่ามของพระองค์ท่าน ทำให้รองศาสตราจารย์ดร.มังกร ทองสุขดี ซึ่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏมีความจับใจว่า มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งสอนภาษาไืทยได้ดี เพราะว่าอาจารย์ชิวซูหลุนจบจากที่นี่ สอนได้ดี และพูดได้ชัด ก็เลยอยากรู้ว่า มหาวิทยาลัยนี้สอนอย่างไร แล้วก็ขอมาดูมหาวิทยาลัย หลังจากนั้น ก็มีการติดต่อกันระหว่างผู้บริหาร เช่นมีการเชิญคณะผู้บริหารของจีนไปไทย แล้วทางนี้ก็เชิญคณะผู้บริหารไทยมาจีน ได้ติดต่อกันอยู่ 2-3 ครั้งก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญาความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนนักวิชาการเป็นสาระสำคัญ คือมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งเชิญอาจารย์ไทยมาสอนภาษาไทยที่นี่ ทางราชภัฏเชียงใหม่ก็เชิญอาจารย์ภาคไทยไปสอนภาษาจีนในฐานะวิชาพื้นฐานก่อนในช่วงแรก ฉะนั้น การแลกเปลี่ยนได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2534 ทางไทยส่งอาจารย์มา ทางมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งส่งอาจารย์ชิวซูหลุนไป ข้อแตกต่างกันนิดหนึ่งก็คือระเบียบของราชการไทย เราจะมาได้เพียง 1 ภาคเรียน ส่วนอาจารย์จีนไปได้ 1 ปี เมื่อเริ่มมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างนั้น จากปีพ.ศ.2534 จนปัจจุบัน ก็เลยมีการแลกเปลี่ยนกันตลอด สิ่งที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมก็คือสำหรับราชภัฏเชียงใหม่นั้น เราสามารถพัฒนาหลักสูตรภาษาจีนระดับปริญญาตรีสาขาการสอนภาษาจีนได้สำเร็จ คนที่ช่วยการจัดหลักสูตรอย่างมากก็คือรองศาสตราจารย์หลูจวีเจิ้ง เราจึงสามาถเปิดเอกครูภาษาจีนได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาหลักสูตรสายศิลปศาสตร์ด้วย แต่ว่าหลักสูตรสายครูจีนที่ว่านี้ต้องนับว่าเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย"

เมื่อถามถึงชีวิตการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง อาจารย์เกื้อพันธุ์บอกว่า

"ครูมาเป็นคนที่ 2 คือมาเมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ.2535 นักศึกษาจีนในช่วงนั้นเป็นนักศึกษาปีที่ 3 เทอมที่ 2 มีเพียง 9 คน และ 9 คนนั้นมีนักศึกษาหญิง 2 คน นักศึกษาชาย 7 คน ทั้งหมดขยันมาก การสอนนักศึกษา 9 คนทำให้ครูไทยตื่นเต้นมาก เพราะเราเคยสอนอย่างน้อยที่สุด 35 คนในห้องหนึ่ง นักศึกษาก็ตั้งใจเรียนมาก ทำให้ครูบาจารย์มีกำลังใจที่จะสอน การที่อาจารย์ไทยได้พักในมหาวิทยาลัยก็เป็นเครื่องช่วยที่จะทำให้ได้ดูแลกันมากกว่าในห้องเรียนธรรมดา ความจริงอาจารย์ภาษาไทยไม่ค่อยได้ไปต่างประเทศ เมื่อครูมาถึงที่นี่ ต้นไม้ยังไม่มีใบเลย แต่รู้สึกตื่นเต้นมากที่สองข้างทาง ต้นไม้ก็มีแต่ต้น และกิ่งก้าน แล้วก็หนาวมาก จำได้ว่าเมื่อถามทิศทาง มีคนบอกว่าทางตะวันออก หรือตะวันตก ซึ่งครูไม่มีวันรู้ เพราะไม่เห็นดวงอาทิตย์มาหลายวัน เพราะฉะนั้น เรื่องทิศทางเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ จึงไปไหนคนเดียวไม่ได้ แต่ก็มีนักศึกษาช่วย สมัยนั้นวันหยุดมีวันเดียวคือวันอาทิตย์ นักศึกษาก็จะพาเที่ยว นักศึกษาเองก็ไม่กล้าไปคนเดียว เพราะกลัวพูดกับอาจารย์ไม่รู้เรื่อง จึงต้องไปกัน 2 คน จะได้ช่วยกัน แล้วก็พาครูไปเที่ยว ในสายตาของครู ชาวจีนไม่ได้ต่างจากคนไทย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่รู้สึกแปลกหน้า ภาษาเท่านั้นที่ทำให้เราติดต่อกันไม่ได้ แต่ึคนไทยนั้น เมื่อเห็นใครที่เราพูดด้วยไม่ได้ เราก็ใช้วิธียิ้ม จำได้ว่าในสัปดาห์แรก คนที่ไม่รู้จักเขาทำท่างงๆ บางทีเดินผ่านเลยไปแล้ว เขายังหันกลับมาดู เราก็เดาภาษากายได้ว่า คนนี้เราไม่รู้จัก ยิ้มกับเราทำไม แต่เมื่อยิ้มกันบ่อยๆ เข้า ในสัปดาห์ที่ 2 ที่ 3 และต่อไปนั้น บางทีเพื่อนชาวจีนก็ยิ้มให้ครูก่อน เราก็ทักกันแค่ สวัสดี แล้วก็จบ เขาก็คงรู้ว่าเราไม่ใช่คนจีน แต่เราไม่แปลกหน้า นักศึกษาก็ช่วยครูมาก เพราะครูไม่อาจซื้อของได้ จำได้ว่าหัวหน้าห้องมีหน้าที่ซื้อข้าวสาร และซื้อหมูให้ครู ซึ่งครูก็ไม่ทราบว่า เขาซื้อที่ไหน แต่ก็อยู่ำได้ เพราะนักศึกษาช่วย นักศึกษามักจะบอกว่า ต้องการอะไรให้บอก แต่บางคนยังเพิ่มเติมว่า แต่อย่าเรียกมาคนเดียว เพราะำพูดไม่ได้ และอายอาจารย์ แต่นักศึกษาทุกคนก็น่ารัก"

อาจารย์เกื้อพันธุ์ ผู้นิยมแทนตัวว่า "ครู" เสมอพูดกับนักเรียนกล่าวในด้านโครงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัยว่า

"ราชภัฏเชียงใหม่พัฒนามาจากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ จริงๆ เราเป็นสถานศึกษาที่เล็ก และจน แรกทีเดียว การติดต่อให้ทุนต่างๆ นั้นจะเริ่มต้นจากอาจารย์ และท่านอธิการบดี เช่นอาจารย์หาทุนให้นักศึกษา 1 คนก็คือหัวหน้าห้องให้ไปศึกษาในไทย ทุนที่ว่านั้นก็คือทุนค่าเครื่องบิน เพื่อไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรม แต่จำได้ว่านักศึกษารุ่นแรกมี 9 คนซึ่งก็มีการพยายามหาทุนกัน นักศึกษาได้ไปครั้งแรก 1 คน ครั้งที่ 2 นักการศึกษาที่มีเงินก็ให้ทุนนักศึกษาหญิงไป 2 คน ราชภัฏเชียงใหม่ก็มีส่วนต้อนรับด้วย เพราะต่อมาท่านอธิการคนใหม่ก็สามารถหาทุนให้นักศึกษาที่เหลืออีก 6 คนไปประเทศไทยได้ในรอบที่ 2 ทุกคนก็สนุกมาก แม้ไปเพียง 1 เดือนก็จริง แต่ก็คิดว่าสามารถพัฒนาภาษาไทยได้ หลังจากนั้น เมื่อทางราชภัฏเชียงใหม่เปิดหลักสูตรเอกจีนรุ่นแรกได้แล้ว ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งก็เคยหาทุนให้นักศึกษามาเรียนที่นี่ได้ 4 คน ถ้าดูว่าการแลกเปลี่ยนนั้นซึ่งสาระส่วนใหญ่ก็คือแลกเปลี่ยนนักวิชาการ และแลกเปลี่ยนตัวอาจารย์นั่นเอง อาจารย์จีนที่ไปสอนที่ไทยโดยเฉพาะอาจารย์ในภาควิชาภาษาไทย พวกท่านได้ทุ่มเทเวลาและความรู้ให้นักศึกษาอย่างยิ่ง อาจารย์ไทยที่มาที่นี่ ทุกคนก็ได้ทุ่มเทเวลาไม่เพียงแต่ชั่วโมงสอนแต่นอกเวลาเรียนด้วย เพื่อจะช่วยให้นักศึกษาเอกภาษาไทยเรียนภาษาไทยได้เร็ว และพูดได้ชัด"

ส่วนด้านความเปลี่ยนแปลงของจีนในสายตาของอาจารย์นั้นคือ

"ถ้าเทียบกับเมื่อตอนที่ครูมาที่นี่ในพ.ศ.2535 ตอนนั้นจีนกำลังเริ่มประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว แต่ถ้าถามว่านักท่องเที่ยวไทยมามากไหม ตอนนั้นก็พอมีบ้าง แต่ไม่มาก แต่เมื่อครูกลับมาในปีหลังๆ นี้ ก็พบว่านักท่องเที่ยวไทยนิยมมาเที่ยวมาก เมื่อก่อนนี้ นักท่องเที่ยวต้องซื้อตั๋วบริษัททัวร์ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ตอนหลังนี้ที่เชียงใหม่เองก็เปิดด้วย"

นอกจากนี้ อาจารย์ยังกล่าวถึงความสำคัญของสถาบันขงจื๊อและศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสิรินธรที่ได้ส่งเสริมการติดต่อกันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วย

"พอตอนหลังมีสถาบันขงจื๊อเปิดขึ้นมา เท่าที่ทราบ สถาบันขงจื๊อในประเทศไทยถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้วมากที่สุดในโลก ทำให้เห็นว่าจริงๆ คนไทยสนใจเรียนภาษาจีน เมื่อใกล้ชิดกันมากขึ้น แม้แต่อย่างที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยือนจีน แล้วก็มาเยือนมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งด้วย ตอนนั้นมีการเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสิรินธร จำได้ว่าท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งคือศาสตราจารย์เห่าผิงได้กราบทูลเชิญท่านเป็นองค์ประธานกิติมศักดิ์ ขณะนี้ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมสิรินธรก็ขึ้นอยู่กับภาควิชาภาษาไทย ซึ่งก็กำลังดำเนินการก้าวหน้า มีการแปลหนังสือไทยเป็นภาษาจีน และมีการทำงานอื่นๆ ด้วย คุณจะเห็นว่า ภาควิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งยังเปิดหลักสูตรปริญญาโท ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นปริญญาโทด้านการแปลภาษาจีน – ไทย และไทย- จีน แล้วก็ยังมีปริญญาเอกทฤษฏีการแปลเท่าที่ทราบ เดี๋ยวนี้นักศึกษาไทยก็มาเรียนภาษาจีนในประเทศจีนมาก จนบางทีไปที่ไหนก็ยังเจอนักศึกษาไทย นี่เป็นความก้าวหน้า เมื่อก่อนในประเทศไทย นักศึกษาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ภาษาต่างประเทศให้เลือกได้หลายภาษา มีอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น หลายปีมานี้ ก็ให้เลือกภาษาจีนด้วย ครูเห็นว่าความร่วมมือด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่ดี ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในจำนวนมาก แม้แต่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งเองก็มีการลงนามสัญญาความร่วมมือไม่เพียงแต่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ยังมีกับแม่ฟ้าหลวงที่เปิดปริญญาโทร่วมกัน ครูดูว่าภาษาเป็นเครื่องมือกาีรสื่อสาร ถ้าเราสื่อสารกันเรื่อยๆ ความร่วมมือก็จะดียิ่งขึ้น "