เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ฟอรั่มบรรณาธิการโลกที่จัดขึ้นโดย โปรแจคต์ ซินดิเคต(PROJECT SYNDICATE) ที่โคเปนเฮเกน นครหลวงของเดนมาร์กสิ้นสุดลง ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุมได้อภิปรายประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศที่ทั่วโลกต้องเผชิญ เรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ใช้ปฏิบัติการอย่างแข็งขัน เพื่อให้การเจรจาได้ผลคืบหน้า
การประชุมครั้งนี้จัดเป็นเวลา 3 วัน ประเด็นหลักคือ จากเกียวโตถึงโคเปนเฮเกน รับมือกับสภาพที่ทั่วโลกอุ่นขึ้น เพื่อพิทักษ์พลังงาน ที่ประชุมได้เชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการการเมือง วิชาการและพาณิชย์จากประเทศต่างๆ เพื่ออภิปรายปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เขาเห็นว่า ถ้าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที จะทำให้ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากขึ้นตกอยู่ในภาวะลำบากยากแค้น
"ปัญหานี้มีความเสี่ยงร้ายแรงมาก โดยเฉพาะสำหรับประชากรจำนวนหลายพันล้านคนที่อยู่ในภาวะยากจนลำบาก การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศกับการขจัดความยากจนควรเกื้อกูลกันได้"
ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศของประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นายพัน เจียหวา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองของสภาวิทยาศาสตร์ทางสังคมแห่งชาติจีนชี้แจงว่า ประเทศกำลังพัฒนามีความแตกต่างกันในขั้นตอนการพัฒนา ไม่ควรเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ใช้มาตรฐานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ระดับเดียวกัน ประเทศพัฒนาที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกควรแสดงบทบาทเป็นแบบอย่าง
"ผมเห็นว่า เมื่อเทียบกับการรวบรวมเงินทุนและเทคโนโลยีแล้ว ท่าทีของประเทศพัฒนามีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว เรื่องต่างๆ รวมถึงความร่วมมือก็จะได้รับการจัดวางอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าจะรวมประเทศกำลังพัฒนาให้อยู่ในขอบเขตของคำมั่นสัญญาที่เกี่ยวข้อง การให้ประเทศพัฒนาทำเป็นแบบอย่าง และใช้ชีวิตแบบปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุมเสนอแนวคิดริเริ่มให้จัดตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ศาสตราจารย์นิโคลาส สเทอร์นจากสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจ ลอนดอน อังกฤษกล่าวว่า
"เมื่อเรามีความเห็นตรงกันแล้ว เราจะกำหนดหน้าที่ขององค์การสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศให้แน่ชัด เราต้องการองค์การนี้ หลังการประชุมโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคม เราจะเริ่มปฏิบัติงานชี้นำ แต่ก่อนอื่น จะต้องบรรลุซึ่งความเห็นตรงกัน แล้วค่อยเจรจาปัญหาการจัดตั้งองค์การดังกล่าว"
|