ช่วงระหว่างวันที่ 15-25 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ มีการจัดงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งประชาชนชาวไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ดิฉันติดตามงานนี้จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ซึ่งทำให้ดิฉันหวนกลับไปคิดถึงงานฯ เมื่อปี 2544 ตอนที่ดิฉันเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งสุดยอดไฮไลต์หนังสือเล่มใหม่ที่ลดราคาพิเศษ และได้พบนักเขียนที่มีชื่อเสียงในงาน เช่น ชาติ กอบจิตติ เจ้าของผลงาน "คำพิพากษา" และแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ตลอดจนกิจกรรมบนเวทีที่น่าสนใจอีกมากมาย ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ดิฉันคิดถึงงานมหกรรมหนังสือนานาชาติแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ประจำปี 2009 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ โดยในปีนี้จีนได้เป็นประเทศรับเชิญพิเศษของงานฯ นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีนเดินทางไปร่วมพิธีเปิดงานฯ ครั้งนี้ด้วย วันนี้จึงขอเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานมหกรรมหนังสือนานาชาติแฟรงค์เฟิร์ตให้ฟังกันค่ะ
งานมหกรรมหนังสือนานาชาติแฟรงค์เฟิร์ตเป็นงานมหกรรมหนังสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในโลกปัจจุบัน อีกทั้งเป็นเวทีการซื้อขายหนังสือที่สำคัญที่สุดของโลกด้วย เริ่มตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา ที่งานมหกรรมหนังสือนานาชาติแฟรงค์เฟิร์ตมีการกำหนดประเทศรับเชิญพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสดงความก้าวหน้าด้านการสิ่งพิมพ์ วัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมของประเทศนั้นๆ ต่อทั่วโลก
โดยปีนี้ได้กำหนดให้จีนเป็นประเทศรับเชิญพิเศษครั้งที่ 22 และนับเป็นครั้งแรกที่จีนได้รับเชิญไปงานฯ เช่นนี้ ฉะนั้น จึงให้ความสำคัญกับโอกาสนี้อย่างยิ่ง นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีน พร้อมกับนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ร่วมพิธีเปิดงานฯ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา และกล่าวปราศรัยในหัวข้อว่า "การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และส่งเสริมสันติภาพของโลก" เขากล่าวว่า
"การได้มีโอกาสมาร่วมงานมหกรรมหนังสือนานาชาติแฟรงค์เฟิร์ตในฐานะประเทศรับเชิญพิเศษ นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับจีนในการรับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดหน้าต่างบานสำคัญสำหรับมิตรประเทศต่างๆ ในการสัมผัสและรับรู้วัฒนธรรมจีน"
ส่วนนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวในพิธีเปิดงานฯ ว่า
"วรรณคดีเป็นลู่ทางสำคัญในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเทศใดประเทศหนึ่ง วรรณคดีจีนยังคงเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ดิฉันเฝ้ารอคอยการแสดงและกิจกรรมหลากหลายสีสันของจีนในงานฯ ครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวจีนสนใจด้วย"
บูธของจีน ซึ่งเป็นประเทศรับเชิญพิเศษในครั้งนี้มีพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร นอกจากนี้ ยังมีห้องจีนที่มีพื้นที่อีก 2,500 ตารางเมตรด้วย ภายในจัดแสดงสิ่งพิมพ์และวัฒนธรรมที่รุ่งโรจน์ของจีนในรอบ 5,000 ปี ตั้งแต่กระดาษ ตัวเรียงพิมพ์ หนังสือ และน้ำหมึก ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำหนังสือ ตลอดจนวิวัฒนาการของหนังสือจีน ตั้งแต่หนังสือกระดองเต่า เทคโนโลยีการทำกระดาษ เทคโนโลยีการพิมพ์ จนถึงยุคดิจิตอล โบราณวัตถุที่จัดแสดงรวมถึงหนังสือคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตฉบับแม่พิมพ์สลัก ซึ่งเป็นฉบับแรกที่มีการระบุเวลาที่แน่ที่ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
หญิงเยอรมันชื่อเรนาเต สเตห์ล-วูลเตอร์สที่มาชมบูธจีนมีความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เธอกล่าวว่า
"บูธจีนเยี่ยมเหลือเกิน ดิฉันชอบไปหมด นอกจากนี้ ยังนำแนวคิดปรัชญาและศิลปะดั้งเดิมมาจัดแสดงผสมผสานการออกแบบสมัยใหม่ที่เข้ากันอย่างมาก"
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงวัฒนธรรมกลางแจ้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์และมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนในทุกๆ ด้าน ระหว่างงานฯ จีนจัดแสดงกลางแจ้งวันละ 2 รอบ โดยนักเขียนและศิลปินจีนจำนวนมาก ส่วนใน "กระโจมประเทศรับเชิญพิเศษ" ซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้งนั้น ยังมีการจัดแสดงมรดกวัฒนธรรมของจีนด้วย เช่น ภาพเขียนทัง-กา (Thang-ka Painting) ของชนชาติทิเบต ละครหุ่นกระบอก ศิลปะการเย็บปักถักร้อยของชนชาติม้ง และว่าว เป็นต้น รวมทั้งหมดแล้ว กิจกรรมที่สำคัญๆ มีทั้งหมด 612 รอบ
เชื่อมั่นได้เต็มร้อยว่า ในฤดูใบไม้ร่วงสีทองอร่ามนี้ การแลกเปลี่ยนด้านสิ่งพิมพ์และวัฒนธรรมกับต่างประเทศของจีนจะประสบผลสำเร็จอันงดงาม และสร้างบันทึกหน้าใหม่อันรุ่งโรจน์แห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ
|