วันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ อาคารพุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีพิธีเปิดสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 ภายในงานมีพระพรหมมังคลาจารย์ (ธงชัย ธมฺมธโช) ประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร คุณหยางซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย คุณซ่งรั่วหยุน เลขานุการเอกฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ ศ.ต้วนหลิน ประธานสภามหาวิทยาลัยต้าหลี่ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน
สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นสถาบันพิเศษรูปแบบใหม่ภายใต้นโยบาย "Belt & Road Initiative" ได้รับการสนับสนุนความร่วมมือและงบประมาณจากสำนักงานฮั่นปั้น ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ในประเทศไทยมีพระพรหมมังคลาจารย์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถาบัน และมีมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจินและมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นมหาวิทยาลัยร่วมก่อตั้ง โดยมีสำนักงานเลขานุการตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นสาขาที่ 1
รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวต้อนรับว่า ความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างไทย-จีน ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว อันได้แก่ด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข กีฬา และวัฒนธรรม จนกระทั่งมาสู่การเรียนการสอนภาษาจีน ณ ปัจจุบันนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนมีความก้าวหน้าระดับสูง ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาจีนจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เข้าใจวิทยาการเหล่านั้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครตระหนักในความสำคัญข้อนี้ ที่มุ่งเน้นเตรียมความพร้อมให้นักศึกษามีความพร้อมเฉพาะทาง และเรียนรู้ภาษาเพื่อขยายโอกาสการทำงานในอนาคต จึงเข้าร่วมการจัดตั้งสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นสถาบันแห่งที่ 2 ในประเทศไทย และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและชุมชน
พระพรหมมังคลาจารย์ กล่าวในพิธีเปิดว่า "แนวคิดริเริ่มในการจัดตั้งสถาบันรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนให้แพร่หลายมากขึ้นนี้ เป็นการรวบรวมสถาบันการศึกษา หน่วยราชการ และองค์กรเอกชนที่มีการเรียนการสอนภาษาจีน (ซึ่งไม่รวม 14 สถาบันขงจื่อ และ 11 ห้องเรียนขงจื่อเดิม) เข้ามาเป็นเครือข่าย เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน การอบรม และการใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวันให้มีมาตรฐานตามที่เจ้าของภาษากำหนด
บทบาทหน้าที่ของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลว่านอกจากจะปฏิบัติงานไปตามภารกิจปกติ ได้แก่ การเรียนการสอนภาษาจีน การฝึกอบรมแก่อาจารย์ การจัดสอบ HSK การสนับสนุนข้อมูลด้านการศึกษา และการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมจีนแล้ว จะต้องมีภารกิจสำคัญเพิ่มเติมได้แก่ การสนับสนุนอาชีวศึกษา การผลิตครูไทยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล"
ศ.ต้วนหลิน ประธานสภามหาวิทยาลัยต้าหลี่ กล่าวว่า "ภารกิจของสถาบันขงจื่อคือคือช่วยให้ประชาชนทั่วโลกรู้จักภาษาและวัฒนธรรมจีน และเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ส่งเสริมการพัฒนาของโลกที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีส่วนร่วมในการสร้างโลกให้สันติสุข มีหน้าที่หลักคือ การสอนภาษาจีนแก่ผู้คนทุกสาขาวิชาชีพ การฝึกอบรมครูชาวจีน ดำเนินการสอบวัดระดับภาษาจีน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศจีน ถึงสิ้นปี 2017 ที่ผ่านมา มีการจัดตั้งสถาบันขงจื่อแล้ว 525 แห่ง และห้องเรียนขงจื่อ 1,113 แห่ง ใน 146 ประเทศ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกประเภทจำนวน 9.16 ล้านคน"
ดร.ซ่งหลั่วหยุน ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนหรือฮั่นปั้น ระบุในสาส์นแสดงความยินดีว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสถาบันขงจื่อในประเทศไทยและห้องเรียนขงจื่อได้พัฒนาเติบโตขึ้นมาก เพื่อเป็นการผลักดันความร่วมมือระหว่างสองประเทศในโครงการ "เส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21" เพื่อขยายการเเลกเปลี่ยนด้านการศึกษา วัฒนธรรมและสาขาอื่น ๆ เพื่อสร้างเวทีที่กว้างขึ้น มหาวิทยาลัยต้าหลี่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในจีนตะวันตกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในด้านการผลิตครูที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันทำให้เป็นสถานศึกษาที่มีภาษาไทย-จีน เเละเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้เเสดงบทบาท เรียนรู้ซึ่งกันเเละกันเพื่อการสืบสานเเละพัฒนาความสัมพันธ์นี้ต่อไป
จากนั้น คุณหยางซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า "ความสัมพันธ์ที่ดีของไทยและจีนเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาช้า โดยความสัมพันธ์ที่ดีอันนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ประชาชนทั้งสองประเทศทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีนักศึกษาจีนนิยมออกมาศึกษาต่อเป็นอันดับสอง หวังว่าความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองฝ่ายจะช่วยสนับสนุนการศึกษาไทยจีนให้ดีต่อไปในอนาคต"
หลังจากนั้นแขกผู้มีเกีบรติได้ร่วมตัดริบบิ้นและเปิดผ้าคลุมป้ายสถาบันเพื่อเป็นสัญลักษณ์การเปิดสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลอย่างเป็นทางการ และร่วมถ่ายภาพกับเด็กนักเรียนคณะแรกของสถาบัน พร้อมชมการแสดงชุดต่างๆ จากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร โดยในช่วงบ่ายยังมีรายการเสวนาเกี่ยวกับพัฒนาการของสถาบันขงจื่อ