ยาเสพติดที่เข้ามาในประเทศไทย 80% ผลิตจากสามเหลี่ยมทองคำ

2018-06-26 15:36:12 | cri
Share with:

วันนี้วันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันต่อต้านยาเสพติดโลก นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ โดยบรรยายสถานการณ์การต่อต้านยาเสพติดของไทยในปัจจุบัน และความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยด้านการต่อต้านยาเสพติด

เลขาธิกา ปปส. บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมปี 2017 จนถึงวันที่ 18 มิถุนายนทีผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จับกุม และยึดยาเสพติดประเภทยาแอมเฟตามีน 203 ล้านเม็ด เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนเฮโรอีนและกัญชาก็จับกุมได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

เลขาธิการ ปปส.กล่าวว่า ยาเสพติดที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น 80% เป็นยาเสพติดที่ผลิตจากสามเหลี่ยมทองคำ สามเหลี่ยมทองคำจะผลิตยาเสพติด 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรกเป็นยาเสพติดที่ผลิตมาจากพืชเสพติด คือปลูกฝิ่นแล้วไปทำเฮโรอิน อีกประเภทก็คือยาเสพติดประเภทสารสังเคราะห์ ได้แก่ แอมเฟตามีน และเมทเฟตามีน เมทเฟตามีนก็ทำออกมาในรูปของยาไอซ์ แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือเมทเฟตามีนที่มีการผลิตโดยใช้สารเคมีมาทำเป็นสารตั้งต้น ตัวนี้มีปริมาณการผลิตสูง ยาเสพติดที่เข้ามาสู่ประเทศไทย และมีการแพร่ระบาดในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ ก็คือยาบ้าเป็นเม็ด ส่วนไอซ์นั้นไม่ใช่ตลาดในประเทศไทย ไอซ์จะถูกลำเลียงผ่านประเทศไทย ลงไปสู่ภาคใต้ และถูกลำเลียงไปยังประเทศที่สาม

เพื่อยังยั้งการระบาดของยาเสพติดในประเทศไทย รัฐบาล ทหารและตำรวจของไทยร่วมกันใช้มาตรการต่างๆ ในเขตชายแดน และได้ผลอย่างเห็นได้ชัด 

รัฐบาลได้เน้นหนักให้มีการสกัดจับยาเสพติด ที่บริเวณชายแดน ที่จะมียาเสพติดลักลอบเข้ามา จะมีกองกำลังของทหาร ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปสกัด ไม่ให้ยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ประเทศไทย ขณะเดียวกัน ตามถนนเส้นทางคมนาคม ที่เป็นเส้นทางจากภาคเหนือก็ดี ภาคตะวันออกก็ดีที่จะไปสู่กรุงเทพฯ นั้น ก็จะมีการตั้งด่านสกัด โดยตำรวจภูธรจะรับผิดชอบในการสกัดจับตามเส้นทางต่างๆ โดยเราต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทำให้มีการจับกุมยาบ้าได้จำนวนมาก

ขณะที่ป้องกันไม่ให้ยาเสพติดไหลเข้ามาในประเทศ รัฐบาลไทยยังสนับสนุนให้ปลูกพืชทดแทนต้นฝิ่น โดยเลขาธิการ ปปส. กล่าวว่า

จากการสำรวจของ UN ODC พบว่าประเทศไทยเคยมีการปลูกฝิ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 1 แสนกว่าไร่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ของไทย ทรงเล็งเห็นถึงปัญหายาเสพติด ท่านก็จัดตั้งโครงการหลวงขึ้นมา และให้การสนับสนุนส่งเสริม ให้เอาพืชเมืองหนาวไปสนับสนุนให้เขาปลูก และยังทำตลาดรองรับ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ สตรอเบอร์รี่ ท้อ แอปเปิ้ล ทำให้ผู้ที่ปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชเหล่านี้ เพราะมีรายได้ใกล้เคียงกับฝิ่น ปีนี้พบการปลูกฝิ่นประมาณ 600 ไร่ แต่ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ปลูกเพื่อเอาไปเข้าโรงงานทำเฮโรอิน แต่ปลูกไว้เพื่อใช้เป็นยา

ระหว่างการปราบปรามการค้ายาเสพติดภายในประเทศ ไทยยังให้ความสำคัญในการร่วมมือกับประเทศต่างๆ เช่น จีน   เลขาธิการ ปปส. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

สำหรับปปส.ของประเทศไทยนั้น ได้มีการทำงานกับคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือเราเรียกว่า NNCC อย่างใกล้ชิด เรามีการประชุมทั้งทวิภาคีระหว่างไทยกับจีน และก็มีการแลกเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพปีละหนึ่งครั้ง ที่สำคัญที่สุดก็คือ จีนกับไทยนั้นมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนักค้ายาเสพติด จีนเคยจับผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทยแล้วหลบหนีไปอยู่ที่คุนหมิง ทางจีนก็ได้ให้ความร่วมมือในการจับกุม และส่งตัวให้กับฝ่ายไทย ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยก็ให้การสนับสนุนในการจับนักค้ายาเสพติด ที่ขนยาเสพติดเข้าไปที่จีน และหลบหนีมาอยู่ที่ประเทศไทย นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยน และสืบสวนจับกุมคนที่ทำความผิดและหลบหนีไปอยู่อีกประเทศ เขาก็จะยังเคลื่อนไหวค้ายาเสพติดอยู่ ถ้าเราร่วมมือจับกุมพวกนี้ได้มากๆ ก็ถือว่าเป็นการตัดนายทุน หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสั่งค้ายาเสพติด

นอกเหนือจากร่วมมือจับคนตามหมายจับแล้ว ประเทศไทยกับจีนก็มีการแลกเปลี่ยนตัวยาเสพติด เพื่อเอาไปพิสูจน์ในห้องแลป และวิเคราะห์องค์ประกอบ ความเข้มข้นของสารเสพติด

นอกจากความร่วมมือทวิภาคีแล้ว  นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ปปส. ยังแสดงความคิดเห็นว่า เมื่อปี 2013 จีนได้เสนอและเริ่มต้นกลไก "เส้นทางการเดินเรือที่ปลอดภัย" ของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้แก่ จีน ลาว พม่าและไทย ร่วมกันใช้ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด เพื่อรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของลุ่มแม่น้ำโขง ปี 2015 ประเทศภาคีของกลไกนี้ได้เชิญกัมพูชาและเวียดนามเข้าร่วมและปฏิบัติตาม "แผนการปราบปรามยาเสพติดลุ่มแม่น้ำโขง จีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม ระยะ 3 ปี (2016-2018)"

ช่วงวันต่อต้านยาเสพติดของปีนี้ ท้องที่ต่างๆ ของไทยจะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นความตั้งใจในเรื่องการต่อต้านยาเสพติดของไทย โดยจะมีกิจกรรมใน 76 จังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จะมีการเดินรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด โดยมีประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคเอกชนเข้ามาร่วม แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่จะต่อต้านยาเสพติด บางจังหวัดก็จะจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ให้กับเยาวชนหรือประชาชนว่า ยาเสพติดนั้นมีพิษร้ายต่อร่างกาย ในส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ นั้น วันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เรามอบโล่เชิดชูเกียรติของทหารและตำรวจ ให้กับทางญาติของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามยาเสพติดที่ทำเนียบรัฐบาล และวันที่ 26 มิถุนายนซึ่งตรงกับวันต่อต้านยาเสพติดโลก ก็จะมีการเผยแพร่คำปราศรัยของท่านนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ

(Bo/Lin)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)

系统管理员