เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2017 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีนออกประกาศตั้งเขตเมืองใหม่สงอันในมณฑลเหอเป่ย ด้วยการเตรียมงานกว่า 1 ปี แผนการสร้างสรรค์เขตเมืองใหม่สงอันได้รับการอนุมัติผ่านอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 เมษายนปีนี้ รัฐบาลกลางย้ำอีกครั้งว่า เขตเมืองใหม่สงอันจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระดับชาติแห่งที่ 3 หลังจากตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น และเขตเมืองใหม่ผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ การสร้างสรรค์ของเขตสงอัน นับเป็น "ยุทธศาสตร์พันปี" และ "งานใหญ่ของชาติ"
วันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะสื่อมวลชนภาษาจีนจาก 33 ประเทศทั่วโลกกว่า 50 สำนัก เดินทางถึงมณฑลเหอเป่ย เพื่อเยี่ยมเยือนและสำรวจสภาพการสร้างสรรค์ของเขตสงอันในปัจจุบัน ในแผนการสร้างสรรค์เขตเมืองใหม่ดังกล่าว เขตไป๋หยางเตี้ยนนับเป็นเขตแกนนำแห่งหนึ่ง
ปัจจุบัน ในเขตไป๋หยางเตี้ยน ทางการท้องถิ่นได้ใช้มาตรการเฉพาะกิจ 10 ประการ ในทั้งด้านการปรับคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น การฟื้นฟูภาวะนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น เพื่อบูรณะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของท้องที่ดังกล่าว ขณะได้เห็นทิวทัศน์สวยงามของทะเลสาบไป๋หยางเตี้ยน ผู้สื่อข่าวต่างเห็นว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและบูรณะฟื้นฟูทางนิเวศนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาของเขตเมืองใหม่สงอัน หากยังจะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่นี้มากมาย
คณะผู้สื่อข่าวกลุ่มนี้ยังได้เยือนศูนย์บริการพลเมืองเขตสงอัน ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างแล้วเสร็จแห่งแรกหลังจากเขตเมืองใหม่สงอันจัดตั้งขึ้น ในศูนย์บริการพลเมืองเขตสงอันไม่เพียงแต่มีการจัดตั้งจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้าและระบบบริการจักรยานแบบอัจฉริยะเท่านั้น หากยังมีการจัดตั้งร้านมินิมาร์ทไร้คนขาย ที่ทำการไปรษณีย์อัจฉริยะ และอุปกรณ์บริการธุรกิจแชร์ใช้แบบอื่นๆ อีกด้วย แสดงให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิตแบบสีเขียวและเน้นความเป็นอัจฉริยะในทุกที่
คณะผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศที่มาเยือนต่างประทับใจอย่างมาก บางคนชื่นชมว่า จีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจริงๆ ทุกคนมองเห็นได้ว่า ช่องว่างระหว่างจีนกับประเทศพัฒนากำลังลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ปริมณฑลบางส่วนยังนำหน้าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวต่างชาติเชื้อสายจีนทั่วโลกรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
นักวิเคราะห์เห็นว่า การที่เขตเมืองใหม่สงอันถูกมองว่าเป็น"ยุทธศาสตร์พันปี" และ "งานใหญ่ของชาติ" เพราะมีความหมายทางยุทธศาสตร์พิเศษอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมุ่งเน้นการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจภาคเหนือ ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาคเหนือกับภาคใต้มีความสมดุลมากขึ้น
ตามการพิจารณาทางยุทธศาสตร์ของทางการจีน การจัดตั้งเขตเมืองใหม่สงอัน มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.ลดความแออัดและความกดดัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของเมืองหลวงปักกิ่ง 2. ส่งเสริมการพัฒนาร่วมของภูมิภาคกรุงปักกิ่ง-นครเทียนสิน-มณฑลเหอเป่ย ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ 3.สร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเหนือของจีน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือกับภาคใต้อย่างสมดุล 4.สร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับการพัฒนาทางนวัตกรรมทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนในยุคใหม่
ส่วนความได้เปรียบของเขตเมืองใหม่สงอันก็มีอยู่หลายด้าน ทั้งในด้านนโยบาย ด้านภูมิศาสตร์ และด้านทรัพยากร เป็นต้น อันดับแรก เขตสงอันมีความได้เปรียบด้านนโยบาย เนื่องจากได้รับการกำหนดให้เป็นเขตสาธิตการพัฒนาทางนวัตกรรมทั่วประเทศ โดยรัฐบาลกลางให้นโยบายพิเศษต่างๆเพื่อสนับสนุนการดึงดูดบุคลากรดีเลิศจำนวนมากไปร่วมการสร้างสรรค์ จึงมีโอกาสที่บรรลุการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในระยะสั้นๆ
อีกด้านหนึ่ง เขตสงอันตั้งอยู่จุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงปักกิ่ง-เทียนสิน-เมืองสือเจียจวง ซึ่งมีความสะดวกทางคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงปักกิ่ง นครเทียนสิน และเมืองสือเจียจวง เมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย นอกจากนี้ เขตสงอันมีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งทรัพยากรพลังงานความร้อนใต้ดิน และที่ดินเพาะปลูกมากมาย แต่ระดับการบุกเบิกของเขตนี้ค่อนข้างต่ำ จึงยังมีศักยภาพการพัฒนาอีกมาก
ปัจจุบัน โครงการสร้างสรรค์ของเขตเมืองใหม่สงอันกำลังดำเนินการอย่างคึกคัก โดยมีโครงการจำนวนหนึ่งได้สร้างแล้วเสร็จและทดลองเปิดกิจการแล้ว อย่างเช่น "ศูนย์บริการพลเมืองสงอัน" ซึ่งเป็นโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในเขตเมืองใหม่นี้แห่งแรก และเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างเมืองอัจฉริยะแบบสีเขียวในอนาคต จึงมีความหมายสำคัญที่เป็นการสาธิตด้วยดี
ศูนย์บริการพลเมืองสงอันแบกรับภารกิจหลายอย่าง รวมทั้งให้บริการทางราชการ การจัดการประชุมหรืองานแสดง การดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจ และจัดการอบรมสั่งสอน เป็นต้น ในฐานะเป็นตัวแทนการสร้างเมืองแห่งความอัจฉริยะและชีวิตแบบสีเขียว การออกแบบของศูนย์บริการดังกล่าวจึงมีสิ่งที่น่าประทับใจมากมาย
ศูนย์บริการพลเมืองสงอัน แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนบริการสาธารณะ โซนบริการธุรกรรมติดต่อส่วนราชการ โซนบริการชีวิตความเป็นอยู่ และโซนการทำธุรกิจของวิสาหกิจ เมื่อก้าวเข้าไปในศูนย์บริการดังกล่าว จะเกิดความรู้สึกว่า เหมือนกำลังเหยียบย่างเข้าไปในสวนแห่งหนึ่ง ที่กลุ่มอาคารโครงเหล็กผสมผสานเข้ากับต้นไม้ใบหญ้าได้อย่างกลมกลืน
ในโซนบริการชีวิตความเป็นอยู่ มีการจัดตั้งมินิมาร์ทไร้คนขาย ซึ่งลูกค้าสามารถสัมผัสกับประสบการณ์แปลกใหม่ในการช็อปปิ้งด้วยการสแกนใบหน้า ภายในร้านมินิมาร์ทมีจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเกือบครบทุกอย่าง โดยจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการเพียงสมัครลงทะเบียนด้วยการถ่ายภาพใบหน้าตนเอง ก็จะสามารถใช้บริการซื้อสินค้าและชำระเงินได้ง่ายๆ ด้วยการสแกนใบหน้าของตนแล้ว
นอกจากช็อปปิ้งได้อย่างสะดวกง่ายดายแล้ว การสแกนใบหน้ายังสามารถใช้ในการจองห้องเข้าพักโรงแรมที่นี่ได้อีกด้วย เพราะโรงแรมอัจฉริยะในศูนย์บริการดังกล่าว มีการตั้งเครื่องให้บริการจองห้องพักด้วยตนเอง ซึ่งรูปร่างคล้ายกับตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกห้องและเวลาเข้าพักได้ตามต้องการ หลังจากนั้นสามารถชำระเงินได้ง่ายๆ ผ่านมือถือ ระบบดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนด้านกำลังคนให้น้อยลง หากยังยกระดับคุณภาพบริการของโรงแรมอีกด้วย
ส่วนโซนการทำธุรกิจของวิสาหกิจมีลักษณะโดดเด่นที่เน้น "ธุรกิจแชร์ใช้" โดยมีอาคารหลังหนึ่งชื่อ "Officezip" ซึ่งมีทรัพยากรที่จำเป็นอยู่ครบครันในอาคารนี้ ที่รวมทั้งห้องทำงาน ห้องประชุม ซึ่งอุปกรณ์เครื่องใช้และบริการต่างๆ ล้วนเป็นของสาธารณะที่พนักงานบริษัทในโซนนี้ล้วนสามารถใช้บริการเหล่านี้ได้ร่วมกัน นอกจากนี้ ในอาคารดังกล่าวยังมีการจัด "ห้องพักแชร์ใช้" ซึ่งคล้ายกับโรมแรมแคปซูล เพื่อให้พนักงานสามารถเข้ามานอนพักได้
เชื่อว่าในวันข้างหน้าอีกไม่ไกลเกินรอ ผู้คนจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของเขตเมืองใหม่สงอันได้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รูปแบบใหม่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมและวิถีชีวิตแบบสะดวกสบายอย่างไม่เคยมีมาก่อนนี้ กำลังเข้าใกล้ผู้คนในสังคมจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว Yim/Sun