มหาวิทยาลัยชิงหวา

2018-10-08 16:00:23 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_1.0

มหาวิทยาลัยชิงหวาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1911 ในบริเวณอุทยานของราชวงศ์ชิง ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลไห่เตี้ยน ทางเหนือของกรุงปักกิ่ง  มีพื้นที่ 450 เฮกตาร์  หรือ เท่ากับ 2,700 ไร่   มหาวิทยาลัยชิงหวาเป็นมหาวิทยาลัยสหสาขาวิชาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัย สำนักวิชา สถาบันวิจัย สถาบันบริการ ศูนย์ สำนัก สถาบันสมทบ รวมถึงคณะ และภาควิชามากมาย โดยมีจำนวนคณะ หน่วยงาน และสำนักต่าง ๆ เกือบ 300 แห่ง มีอาจารย์อยู่มากกว่า 14,000 คน มีนักศึกษาทั้งปริญญาตรี   ปริญญาโท  ปริญญาเอก  และหลังปริญญาเอกเกือบ 50,000 คน ในจำนวนนี้  มีนักศึกษาต่างชาติประมาณ 3,000 คน  นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยชิงหวามีการประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก

“ชิง” หมายความว่า ความใสสะอาดของน้ำ  “หวา” หมายความว่า  ความสวยงามของต้นไม้  คำว่า “ชิงหวา” ไม่เพียงแต่บรรยายสรุปถึงความสวยงามภายในบริเวณมหาวิทยาลัยที่มีหนอง สระ  บ่อน้ำหลายแห่ง  และมีคูคลองล้อมรอบ  พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเองยังอุดมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์  ชื่อมหาวิทยาลัยชิงหวายังพรรณนาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ กับ นักศึกษาอีกด้วย  ซึ่งอาจารย์เสมือนผู้ทำสวน  ใช้น้ำบริสุทธิ์ และ ใสสะอาดหล่อเลี้ยง และอบรมบ่มเพาะนักศึกษา  เพื่อให้บรรดานักศึกษาเติบโตพัฒนาเป็นต้นไม้สูงใหญ่  ที่สามารถแบกรับภาระหน้าที่การค้ำจุนบ้านเมือง

สาขาวิชาที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยชิงหวา ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี สถาปัตยกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ บริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยชิงหวามุ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับโลก โดยมีคำขวัญว่า “สิงเซิ่งอวี๋หยัน” ซึ่งแปลว่า การปฏิบัติสำคัญกว่าการพูด เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมจีน และสังคมโลก

图片默认标题_fororder_2.0

ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา  มหาวิทยาลัยชิงหวาได้ผลิตบุคลากรด้านต่าง ๆ เกือบ 200,000 คน  ในจำนวนนี้รวมไปถึง นายฮั่ว หลัวเกิง นักคณิตศาสตร์จีน ที่ได้รับการยกย่องว่า  บิดาแห่งคณิตศาสตร์ยุคปัจจุบันของจีน  เทพเจ้าแห่งคณิตศาสตร์  นักคณิตศาสตร์แห่งประชาชน นายเจ้า จิ่งจาง  นักฟิสิกส์ที่ประดิษฐ์คิดค้นดาวเทียมดวงแรกของจีน  นายเฉียน เสวียเซิน บิดาแห่งจรวดของจีน  ผู้ริเริ่มพัฒนาการส่งยานอวกาศพร้อมนักบินอวกาศของจีน  และผู้ได้รับรางวัลสูงสุดด้านการบินอวกาศของจีน  นายเฉียน ซานเฉียง นักฟิสิกส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู ที่ประดิษฐ์คิดค้นระเบิดปรมาณูของจีน  นายเหลียง ซือเฉิง  สถาปนิก ที่ออกแบบอนุสาวรีย์วีรชนประชาชนจีน  โดยอุทิตตนในการคุ้มครองโบราณสถานของจีน  โดยเขาได้เรียบเรียงหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจีน    นายเหมา อี่เซิง ผู้ออกแบบสะพานสองชั้นที่ประกอบด้วยทั้งทางหลวง และทางรถไฟแห่งแรกของจีน  ก่อนหน้านี้  สะพานเหล็กกล้าของจีนล้วนออกแบบโดยชาวต่างชาติ  นายจู๋ เข่อเจิน  นักวิทยาศาสตร์อุตุนิยมวิทยา  นักวิจัยแผ่นดินไหว  และผู้ริเริ่มแนวคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของจีน  นายอู๋ หาน นักประวัติศาสตร์จีน  นายเซี่ย ติ่ง นักโบราณคดีของจีน  นายจี้ เซี่ยนหลิน  ปรมาจารย์จีนศึกษา    นายจาง ไต้เหนียน  นักปรัชญาจีน    นายเฉา อวี่ นักประพันธ์ละครพูด  นายเจ้า หยวนเริ่น นักดนตรี และนักแปลที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศถึง 23 ภาษา   บัณฑิตเหล่านี้ล้วนเป็นบัณฑิตรุ่นอาวุโสของมหาวิทยาลัยชิงหวาที่สำเร็จการศึกษาเมื่อต้นศตวรรษที่ 20

บัณฑิตมหาวิทยาลัยชิงหวานอกจากมีความสามารถด้านวิชาการ   บุกเบิก บูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยแล้ว  ยังมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงดำรงตำแหน่งผู้นำจีนในยุคปัจจุบันอีกด้วย เช่น นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีน  ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากสถาบันมนุษย์และสังคมวิทยา  นายหู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีน สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมชลประทาน   นายจู หรงจี อดีตนายกรัฐมนตรีจีน  สำเร็จการศึกษาจากคณะเครื่องยนต์ไฟฟ้า และนายอู๋ ปังกั๋ว อดีตประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน สำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยุและอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งผู้นำดังกล่าวได้ศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยชิงหวา ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970

ปีหลัง ๆ นี้   บัณฑิตชิงหวารุ่นใหม่ทุ่มเทกำลังในการบุกเบิกพัฒนานิวไฮเทค  และประสบความสำเร็จอันรุ่งโรจน์เป็นที่จับตามองของโลกด้วย

รายงานจากเว็บไซต์ซียูเอเอ ด็อทเน็ต (cuaa.net) ของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจีน บอกว่า  มหาวิทยาลัยชิงหวามีศิษย์เก่าที่เป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านมากที่สุด  และ มีจำนวนถึง 152 คนที่ผ่านคุณสมบัติมหาเศรษฐีของสำนักจัดอันดับหลายแห่ง อาทิ ฟอร์บส์ (Forbes) นิตยสารธุรกิจการเงินสหรัฐฯ และหูรุ่น รีพอร์ต (Hurun Report) หน่วยวิจัยเอกชนในเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

ตัวอย่างของมหาเศรษฐีพันล้าน ก็อย่างเช่น นายฉือ อี่ว์เฟิง ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะเคมีศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวา เมื่อต้นทศวรรษปี 1990 ปัจจุบันเขาเป็นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และบันเทิงหวันเหม่ยซื่อเจี้ย เพอร์เฟคเวิล์ด (Perfect World)  ถือเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยชิงหวาที่ร่ำรวยที่สุด ด้วยทรัพย์สินส่วนตัวกว่า 26,500 ล้านหยวน หรือ มากกว่า 130,000 ล้านบาท

ส่วนหลิว อีเฟิง สอบเข้าคณะพลังงานความร้อน  มหาวิทยาลัยชิงหวาเมื่อเดือนกันยายนปี 2013  เขาก่อตั้งบริษัทหยางกวงปาตู้ แสงแดด 8 องศา เมื่อเดือนเมษายนปี 2014  และประดิษฐ์คิดค้นกระเป๋าเป้พลังแสงอาทิตย์  ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของบริษัทหยางกวงปาตู้เมื่อปี 2015  ปัจจุบัน  หลิว อีเฟิงได้รับสิทธิบัตรต่าง ๆ  11 ฉบับ ในปี 2017  ฟอร์บส์จัดการคัดเลือกบุคคลดีเยี่ยมที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีในจีน  หลิว อีเฟิงในฐานะนักธุรกิจอายุน้อยที่สุดก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลยอดเยี่ยมดังกล่าว

  • เสียงข่าวประจำวัน (29-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (29-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

韩希