สงกรานต์ในจีน

2019-04-10 10:28:37 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_20190410-3

“เมษายน” เป็นเดือนที่อากาศเมืองไทยร้อนที่สุด  และประเพณีเล่นน้ำสงกรานต์ก็ช่วยเพิ่มความเย็นสดชื่น    ลดความร้อนระอุได้พอดีด้วยการสาดน้ำใส่กันเพื่อเป็นการอวยพรและเฉลิมฉลองการมาเยือนของปีใหม่  ในช่วงเทศกาลอันยิ่งใหญ่นี้  ประเทศไทยจะเต็มเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งความรื่นเริง  ไม่ต่างจากตรุษจีนของประเทศจีนเลยทีเดียว

“ประเพณีสงกรานต์” เป็นประเพณีเก่าแก่ต้อนรับปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ แต่การสาดน้ำปีใหม่ไม่ใช่เป็นเทศกาลที่มีเฉพาะในไทยเท่านั้น นอกจากประเทศไทยแล้ว  สงกรานต์ยังเป็นปีใหม่ของชาวไตในจีน  ชนเผ่าอื่นๆ รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น  ลาว  พม่าและกัมพูชาอีกด้วย  แม้ชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้จะอยู่คนละประเทศ  คนละภูมิภาคแต่รูปแบบในการเฉลิมฉลองนั้นมีความคล้ายคลึงกัน  คือ แต่ละประเทศจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองสงกรานต์ไม่ว่าจะเป็นการแข่งเรือพาย  ลอยโคม  หรืออื่นๆ และไม่ว่าที่ใด  กิจกรรมที่ขาดไม่ได้นั้นก็คือการสาดน้ำ  เพราะเป็นตัวแทนของความสะอาดและการชำระล้าง  ได้ฉลองปีใหม่ด้วยการสาดน้ำไปพร้อมกับแสดงความปรารถนาที่ต้องการในปีใหม่นั้นก็คือมุ่งหวังให้มีความสุขกายสบายใจ และรุ่งเรืองเฟื่องฟู

图片默认标题_fororder_20190410-1

“เทศกาลสาดน้ำ” รับปีใหม่ของชนเผ่าไตในจีน  หรือที่ไทยเรียกว่า  “สงกรานต์”  จะอยู่ประมาณช่วงกลางเดือนเมษายนเช่นกัน โดยจะจัดต่อเนื่องเป็นเวลา 3-7 วัน  ในช่วงเทศกาลผู้คนสาดน้ำด้วยน้ำสะอาด  เพื่อขอพรและให้ชำระล้างสิ่งสกปรกและสิ่งที่ไม่ราบรื่นในปีที่ผ่านมาให้หมดสิ้นไปนี้ การสาดน้ำจึงเป็นเทศกาลของชนเผ่าไตในจีนและเทศกาลดั้งเดิมในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับในประเทศไทย  ก่อนวันเทศกาล  ทุกครัวเรือนจะต้องทำความสะอาดภายในและภายนอกบ้าน  เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป  ในวันเทศกาลชาวบ้านจะไปก่อเจดีย์ทรายที่วัด  ปักธงหลากสีพร้อมดอกไม้  ขอพรให้เก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์  และจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ด้วย โดยเอาน้ำอบที่แช่มะลิและกลีบดอกไม้หอมต่างๆไปรดน้ำผู้อาวุโส  เพื่อขอขมาและอวยพรให้ผู้ใหญ่มีความสุขสุขภาพแข็งแรง และผู้ใหญ่ก็จะมีการประพรมน้ำลงบนหัวลูกหลานคนรุ่นหลังเป็นการให้พรด้วย

ในจังหวัดปกครองตนเองชนชาติสิบสองปันนา  มณฑลยูนนานของจีน  ชาวไตที่เลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนาจะนำคุณสัมผัสกับบรรยากาศที่สนุกสนานคึกคักไม่แพ้กัน เพราะตามประเพณีของชนเผ่าไตในจีน  ในวันเทศกาล  ผู้คนสามารถสาดน้ำใส่คนอื่นได้อย่างสะใจเช่นกัน เพราะคนที่โดนสาดน้ำยิ่งมาก  แสดงว่าคนนั้นได้รับความชื่นชอบยิ่งมาก   ดังนั้น บรรดาหนุ่มๆมักจะห้อมล้อมหยอกล้อสาวๆทั้งหลาย  สุภาพสตรีก็ต้องระมัดระวังตัวหน่อยเช่นกัน  และถ้าเดินเที่ยวชมตรอกซอกซอย  ต้องระวังการจู่โจมทางอากาศ  จากดาดฟ้าบ้านเรือนของชาวบ้าน  ถ้าเจอกลุ่มที่แต่งชุดเดียวกันนับว่าพบศึกใหญ่เข้าให้แล้ว   ต้องรีบหลบหนีทันที  เพราะว่าพวกเขาออกมาจะเป็นหมู่เป็นคณะอาจชวนกันมาทั้งหมู่บ้าน  เมื่อเจอพวกเขาสาดน้ำเข้าใส่ จะเปียกโชกทั้งตัวเหมือนลูกหมาตกน้ำแน่นอน  แต่ทุกคนจะไม่โกรธเคืองกัน เพราะรู้ว่าน้ำที่แตกกระเซ็นเป็นฟองเย็นฉ่ำนี้ จะนำความรื่นเริงมาให้กับชาวไตและผู้ที่มาเยือน  ให้เย็นกายเย็นใจ  มีสุขตลอดปี   ดังนั้น น้ำที่สาดกระเซ็นเข้าใส่นี้ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสิริมงคล  ความสุขและสุขภาพแข็งแรง  ผู้คนทั้งหลายจึงสาดน้ำให้กันอย่างสนุกสนาน  ส่งเสียงหัวเราะรื่นเริง  เบิกบาน  แม้ว่าจะเปียกน้ำไปทั้งตัวแต่ยังคงตื่นเต้นสนุกกับการเล่นน้ำ

图片默认标题_fororder_20190410-2

ที่มณฑลยูนนานของจีน มีนักเรียนไทยมาเรียนเป็นจำนวนมาก  สงกรานต์ถือได้ว่าเป็นความสนุกส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในต่างประเทศของนักเรียนไทยที่นี่  สำหรับนักเรียนไทยที่เรียนในต่างประเทศนั้น จะมีวิธีการฉลองสงกรานต์กันอย่างไร   ผู้สื่อข่าวจีนได้ไปสัมภาษณ์นักเรียนไทยที่มาศึกษาในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน พบว่าสิ่งที่นักเรียนไทยต้องทำในช่วงสงกรานต์  หนึ่ง)  หลังอาหารเช้าพวกเขาจะนัดกับเพื่อนๆ ไปไหว้พระ  ทำบุญกันที่วัด  เพราะคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ต่างเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาส่งท้ายปีเก่า  ต้อนรับปีใหม่  การไปทำบุญที่วัดจะถือเป็นการขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองตนและครอบครัวมาตลอดทั้งปี 

พร้อมกันนี้  การไปไหว้พระทำบุญก็จะถือเป็นการขอพรให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นในปีใหม่ที่จะมาถึง  เตือนสติให้ตนคิดดีทำดีและนำไปสู่ความสำเร็จสมปรารถนา  ดังนั้น  นักเรียนไทยในเมืองคุนหมิงจึงมักจะเดินทางไปที่วัดหยวนทง  เพราะวัดหยวนทงเป็นที่ตั้งของสมาคมพุทธศาสนิกแห่งประเทศจีน  นอกจากนี้  เนื่องจากคนไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท  และวัดหยวนทงก็มีการตั้งประดิษฐานพระพุทธรูปแบบเถรวาทด้วย  คนไทยในคุนหมิงจึงมักจะไปไหว้พระที่นี่

สอง)  ระหว่างช่วงสงกรานต์ นักเรียนไทยในจีนที่เมืองคุนหมิงมักจะนัดรับประทานอาหารไทยเป็นกลุ่มใหญ่  โดยมากจะไปฉลองกันที่ร้านอาหารไทย ที่มีเจ้าของร้านเป็นคนไทยด้วย โดยในช่วงสงกรานต์ที่ร้านอาหารไทยก็จะตกแต่งแบบไทยให้อารมณ์เทศกาลเป็นพิเศษด้วย 

นอกจากนี้  นักเรียนไทยในเมืองคุนหมิงบางคนยังอาจจะลงมือทำอาหารไทยด้วยตัวเอง เพื่อฉลองกับเพื่อนคนจีนและชาติอื่นๆอีกด้วย ซึ่งช่วงเช้านัดกันไปซื้อกับข้าวที่ตลาดเพื่อนำกลับมาแสดงฝีมือให้เพื่อนต่างชาติได้ชิม 

ปกติแล้วของกินที่ขาดไม่ได้ในงานมงคลต่างๆของไทย ก็คือ ของหวาน  เพราะของหวานจะแทนความหมายว่าชีวิตในปีใหม่จะหวานฉ่ำเหมือนน้ำตาลอย่างไรอย่างนั้น  ซึ่งขนมไทยที่เป็นนิยมก็เช่น  ทองหยิบ  ทองหยอด  ทองเอก  เม็ดขนุน เป็นต้น  วัตถุดิบที่จะนำมาทำขนมเหล่านี้  แน่นนอนว่าหาซื้อไม่ได้ง่ายๆ ในคุนหมิง  เลยจำเป็นต้องหาของอื่นมาทดแทน

และในตอนกลางคืนของวันสงกรานต์ บรรดานักเรียนไทยในเมืองคุนหมิงก็จะโทรศัพท์หาที่บ้านหรือไม่ก็วีดีโอคอลล์กัน  เพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่กับญาติผู้ใหญ่ที่ไทยด้วย

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)

郑元萍