ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การค้าการลงทุนทวิภาคีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้าจีน –อาเซียนโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ปี 2008 ยอดการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนคิดเป็น 192,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนถึงปี 2018 กลายมาเป็น 515,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเกือบเป็น 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สาเหตุที่ทำให้การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก คงมีปัจจัยสำคัญหลายประการ
เศรษฐกิจจีนและอาเซียนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว GDP ของจีนครองสัดส่วน GDP โลกจาก 4% ของปี 2000 มาเป็น 15 % ของปี 2017 และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต คาดว่าปี 2018 จะขึ้นเป็น 21% ส่วน GDP ของอาเซียนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 5% จนถึงปี 2017 GDP ของทุกประเทศอาเซียนรวมเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
หลังจากปี 2010 ที่ได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน – อาเซียนแล้ว กำแพงการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนก็ลดลง
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดการอุปโภคบริโภคของจีนและอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความต้องการต่อสินค้านำเข้าและการบริการชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP เฉลี่ยต่อคนของจีนเพิ่มขึ้นจาก 2,650 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2007 มาเป็น 8,670 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017 ซึ่งเป็นการผลักดันให้จีนเข้าบัญชีรายชื่อประเทศที่ประชากรมีรายได้ระดับปานกลาง กลุ่มชนชั้นที่มีรายได้ระดับปานกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อคน ในเมืองใหญ่ของจีนอาจจะสูงกว่าเมืองอื่นๆ อย่างเช่นปี 2017 GDP เฉลี่ยต่อคนของกรุงปักกิ่งมีประมาณ 20,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่นับวันสำคัญมากยิ่งขึ้น ประเทศอาเซียนได้ส่งออกสินค้าและบริการจำนวนมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์การเกษตร พลังงานและการท่องเที่ยว เป็นต้น
(ตามสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2018 ไทยรับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 590,000 ล้านบาท)
แต่อาเซียนก็เป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่มากเช่นกัน มีประชากรรวมประมาณ 658 ล้านคน การบริโภคของครอบครัวประเทศอาเซียนที่มีประชากรจำนวนมากเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ดังนั้น อาเซียนก็เป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของจีน ปี 2017 ยอดการส่งออกของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียนคิดเป็น 279,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเป็นสัดส่วน 12.3% ของยอดการส่งออกในปี 2017 ของจีน
นอกจากนั้น จีนยังเป็นแหล่งที่มาสำคัญด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ระหว่างปี 2013 – 2016 การลงทุนโดยตรงของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
ปัจจุบัน รายได้ของแรงงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตของเมืองริมฝั่งทะเลของจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นักธุรกิจจีนจำนวนหนึ่งจึงหันไปลงทุนสร้างโรงงานในประเทศอาเซียน เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งกำลังแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ อย่างเช่นเสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น
ปีหลังๆ มานี้ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กลายเป็นจุดเด่นใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน ได้นำมาซึ่งเงินทุนมหาศาลมาให้กับโครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศ ประเทศอาเซียนก็เป็นหนึ่งของส่วนประกอบที่สำคัญ ภายใต้สภาพที่การค้าทวิภาคีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นต้องเชื่อมต่อทางหลวง ทางรถไฟและท่าเรือระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ผลักดันการเติบโตทางการค้าให้ก้าวหน้าต่อไป
จีนได้พยายามหาเงินทุนมาให้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอาเซียน รวมถึงไทย ลาว กัมพูชาและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการก่อสร้างเครือข่ายทางรถไฟแพนเอเชียที่เริ่มตั้งแต่เมืองคุนหมิงทางภาคใต้ของจีน ผ่านประเทศลาว เวียดนาม ไทย กัมพูชาและมาเลเซีย สิ้นสุดที่สิงคโปร์
เมื่อปี 2011 จีนเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟดังกล่าว ที่ออกจากเมืองคุนหมิงไปถึงชายแดนจีน – ลาว จนถึงปี 2016 ก็เริ่มก่อสร้างเครือข่ายทางรถไฟแพนเอเชียตอนล่าง ที่ไปถึงกรุงเวียนจันทน์ของลาว ทางรถไฟตอนนี้มีระยะทางยาว 400 กิโลเมตร ต้องสร้างอุโมงค์และสะพานจำนวนมาก ใช้เงินประมาณ 40,000 ล้านหยวน (200,000 ล้านบาท )นับเป็นโครงการก่อสร้างที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของลาว เงินก้อนนี้ 70% เสนอโดยฝ่ายจีน การก่อสร้างทางรถไฟจะใช้เทคโนโลยีจีน และมาตรฐานของจีน เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของจีน
ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เดือนธันวาคมปี 2016 นายหวัง อี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนได้พบกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ทั้งสองได้หารือโครงการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย และเห็นว่านี่เป็นส่วนประกอบสำคัญของความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโครงการ “ 1 แถบ 1 เส้นทาง” และการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ “IHS Markit” บริษัทผู้เสนอบริการด้านข้อมูลการพาณิชย์รอบโลกที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอนประกาศรายงานคาดว่า จนถึงปี 2028 จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก
ขณะเดียวกัน ปี 2019 GDP เฉลี่ยต่อคนของจีนจะมีถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ จนถึงปี 2028 จะโตขึ้นเป็น 22,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ตลาดบริโภคของจีนกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการส่งออกสินค้าและการบริการของประเทศอาเซียน แต่ขณะเดียวกัน อาเซียนก็จะกลายเป็นหนึ่งในตลาดบริโภคที่สำคัญที่สุดของโลกเช่นกัน
จีนกับอาเซียนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการค้าเสรีของภูมิ ภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมๆ กับการค้าการลงทุนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จีนและอาเซียนจะกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก
(Bo/Lin)