วันที่ 12 กรกฎาคม กระทรวงการต่างประเทศจีนประกาศว่า จีนจะคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันในครั้งนี้ หลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯอนุมัติขายอาวุธมูลค่า 2,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ไต้หวันช่วงก่อนหน้านี้ การคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นมาตรการที่จำเป็นและเด็ดขาดสำหรับประเทศที่มีอธิปไตย เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์หลักของตน
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่มิอาจแบ่งแยกได้ การที่สหรัฐฯขายอาวุธให้แก่ไต้หวันนั้น ไม่เพียงแต่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักบรรทัดฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรง หากยังได้ละเมิดหลักการจีนเดียว และแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับอย่างร้ายแรงอีกด้วย บริษัทสหรัฐฯขายอาวุธให้แก่ไต้หวันนั้นไม่ใช่การค้าขายเชิงพาณิชย์ธรรมดา แต่เป็นการกระทำที่บ่อนทำลายอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติของจีนอย่างร้ายแรง การที่จีนตัดสินจะคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐฯที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขายอาวุธครั้งนี้นั้น มีความสมเหตุสมผล และชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลและบริษัทจีนจะไม่มีวันดำเนินความร่วมมือและค้าขายในทุกรูปแบบกับบริษัทที่บ่อนทำลายผลประโยชน์ของจีน
ช่วง 40 ปีนับตั้งแต่จีน-สหรัฐฯสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นต้นมา สหรัฐฯได้แสดงท่าทีว่า จะเคารพและปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ และยืนยันว่า จีนมีเพียงประเทศเดียวในโลก ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของจีน อีกทั้งยังให้คำมั่นสัญญาว่า จะค่อยๆ ลดการขายอาวุธแก่ไต้หวัน จนในที่สุดแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯได้ดำเนินการไปมาหาสู่กันอย่างเป็นทางการและการติดต่อทางการทหารกับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งเป็นกฎหมายภายในประเทศของสหรัฐฯ การกระทำเช่นนี้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน และการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่แก้ไขยากและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯมาโดยตลอด
สหรัฐจะช่วยรักษาความมั่นคงของไต้หวันจริงหรือเมื่อขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน ? คำตอบคือไม่จริงแน่นอน รัฐบาลสหรัฐฯและบริษัทค้าอาวุธมีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ไม่เป็นความลับมานานแล้ว จากการขายอาวุธที่ล้าสมัยในราคาสูงให้แก่ไต้หวัน สหรัฐฯนอกจากพยายามใช้ประเด็นปัญหาไต้หวันในการคานอำนาจจีนแล้ว ยังทำให้ไต้หวันกลายเป็นแหล่งรายได้ของสหรัฐฯ เพื่อสอดคล้องกับผลประโยชน์ของบริษัทค้าอาวุธสหรัฐฯ ทั้งสิ้น
รัฐบาลชุดปัจจุบันของสหรัฐ ได้เดินหน้าต่อไปในการขายอาวุธแก่ไต้หวัน โดยให้บริษัทค้าอาวุธเจรจากับผู้ซื้อโดยตรง เช่น เมื่อเดือนเมษายนปี 2018 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯอนุมัติบริษัทสหรัฐฯเสนอเทคโนโลยีเรือดำน้ำที่มีความละเอียดอ่อนให้แก่ทางการไต้หวันด้วยรูปแบบการซื้อขายเชิงพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับอนุมัติให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯเจรจากับไต้หวันโดยตรง
แต่การที่บริษัทสหรัฐฯเข้าร่วมการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันนั้นไม่ใช่การค้าเชิงพาณิชย์ธรรมดา หากเป็นการกระทำที่บ่อนทำลายอธิปไตย และแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง ซึ่งจีนยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด เมื่อปี 2015 จีนเคยคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐฯที่เข้าร่วมการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน เวลาผ่านไป 4 ปี จีนประกาศคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐฯที่เข้าร่วมการขายอาวุธให้กับไต้หวันอีกครั้ง ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จีนมีท่าทีชัดเจนในการพิทักษ์อธิปไตยของประเทศ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปกป้องอธิปไตย และบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่
อธิปไตยของจีนไม่อาจถูกละเมิดได้ กิจการภายในของจีนไม่อาจถูกแทรกแซงได้ สหรัฐฯอนุมัติขายอาวุธให้แก่ไต้หวันในครั้งนี้ไม่เพียงจะทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน หากยังจะสร้างความเสียหายให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ และความร่วมมือด้านสำคัญของสองประเทศอีกด้วย จีนมีท่าทีที่ชัดเจนและมั่นคงในการพิทักษ์อธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน บริษัท หรือบุคคลใดที่จะมาท้าทายอธิปไตย ความเป็นเอกภาพ และบูรณภาพเหนือดินแดนของจีน เพื่อผลประโยชน์ของตนนั้นสุดท้ายจะต้องชดใช้อย่างมหาศาลจากการไม่มีวิสัยทัศน์
(bo/cai)