นิทรรศการ “คลี่พัดเล่นกับสายลม” ที่กว่างโจว

2019-08-08 10:06:41 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_1把玩清风(扇子)

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เป็นช่วงร้อนที่สุดของจีน ที่หอวิจิตรศิลป์หยาเตี่ยน เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง ทางภาคใต้ของจีน มีการจัดนิทรรศการ “คลี่พัดเล่นกับสายลม” จัดแสดงผลงานการเขียนอักษรศิลป์จีนบนพัดโดยศิลปินสำนักจือยี่ 10 คน (把翫清风——孜艺十人扇面展) จำนวนหลายสิบชิ้น ในมณฑลกว่างตง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน ศิลปินเหล่านี้แม้ว่าจะเรียนจากอาจารย์ท่านเดียวกัน แต่ก็มีข้อดีและความถนัดต่างกัน เมื่อเขียนอักษรศิลป์จีนลงหน้าพัด ซึ่งมีความยาวไม่ถึง 1 ฟุต ก็จะสามารถสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่อลังการจากพัดอันเล็กๆ เหล่านี้ได้ อีกทั้งยังไม่ซ้ำซาก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่หาได้ยาก

พัด หรือ “ซ่านจื่อ” (扇子) ในภาษาจีน ใช้โบกให้เกิดลม พัด เพื่อคลายร้อน หรือ ไล่แมลง แต่ชาวจีนสมัยโบราณกลับเติมแต่งนัยยะทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งกินใจให้กับพัด ทำให้พัดกลายเป็นเสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรมจีน การเขียนอักษรศิลป์บนหน้าพัด เมื่อเทียบกับอักษรศิลป์ชนิดอื่นๆ แล้ว จะมีความบันเทิงมากกว่า จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ทรงความรู้

ในสมัยที่ยังไม่มีพัดลมไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ พัดยังคงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในสมัยนี้ พัดก็ยังคงเป็นที่นิยมเช่นกัน เห็นได้จากเวลาเพื่อนบ้านบางคนถือพัดออกจากบ้าน โบกไปโบกมาใต้ต้นไม้ เพื่อคลายความร้อน ไล่ยุง กันแดด หรือบางคนอาจจะเลือกซื้อพัดมาเป็นเครื่องประดับ กระทั่งเป็นของสะสมที่สง่างามและล้ำค่า เมื่อพัดรวมเข้ากับบทกลอน จึงทำให้เกิดเป็นภาพที่แสนสวยงาม กลายเป็นศิลปหัตถกรรมชิ้นหนึ่ง กล่าวคือ บนพัดมีบทกลอนบทหนึ่ง หรือ ภาพเขียนพู่กันจีนภาพหนึ่ง รังสรรค์โดยศิลปินสาขาอักษรศิลป์จีน หรือ จิตรกรพู่กันจีน เมื่อคลี่ออกก็พัดเสียเพลิน จนไม่อยากจะวาง

图片默认标题_fororder_2研讨会

ศิลปินอักษรศิลป์จีนที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก มีความสามารถทั้งการเขียนพู่กันจีน และการเขียนภาพ ปี ค.ศ.2003 ศ.เจิง จิ่งชง ในฐานะศิลปินอักษรศิลป์จีนคนแรกของมณฑลกว่างตง ได้รับเชิญให้เดินทางไปเขียนอักษรศิลป์จีนเรื่อง “ชิ่นหยวนชุน·เสว่ย์” (《沁园春·雪》) ซึ่งเป็นกลอนของประธานเหมา ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง ผลงานดังกล่าวของ ศ.เจิง จิ่งชง ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ศ.เจิง จิ่งชงเคยจัดนิทรรศการผลงานอักษรศิลป์จีนส่วนบุคคลหลายครั้งทั้งในจีน ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังเคยไปบรรยายที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ตามลำดับ อีกทั้งยังเคยจัดพิมพ์หนังสือเรียนอักษรศิลป์หลายเล่ม เคยเขียนข้อความ หรือ ตัวหนังสือ ให้กับสาธารณสถานหลายแห่งและแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงหลายรายของมณฑลกว่างตง เช่น แบรนด์ “หวงซั่งหวง”  (皇上皇) และ “หวงเจิ้นหลงเหลียงฉา” (黄振龙凉茶)

ศ.เจิง จิ่งชงมุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนด้านอักษรศิลป์จีน มีลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง สร้างผลงานและชื่อเสียงมากมาย ปีค.ศ.2006 เขาก่อตั้งสำนักจือยี่ (孜艺书社) เพื่อเผยแพร่อักษรศิลป์จีน แม้ศ.เจิง จิ่งชงถึงแก่กรรมไปเมื่อปี ค.ศ.2009 แต่ลูกศิษย์ของเขายังคงสืบสานภารกิจของอาจารย์ และมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

图片默认标题_fororder_3欧广勇(发言)

ในวันเปิดนิทรรศการ “คลี่พัดเล่นกับสายลม” มีการจัดแสดงผลงานการเขียนอักษรศิลป์จีนบนพัดโดยศิลปินสำนักจือยี่ 10 คน และมีการจัดงานสัมมนา โดยเชิญศิลปินสาขาอักษรศิลป์จีนที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น โอว กว่างหย่ง (欧广勇) อดีตอุปนายกสมาคมศิลปินสาขาอักษรศิลป์จีนมณฑลกว่างตง  เหลียน เติง (连登) อดีตอุปนายกสมาคมศิลปินสาขาอักษรศิลป์จีนมณฑลกว่างตง ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากสำนักพิมพ์จิตรกรรมหลิ่งหนาน และบริษัทประมูล เป็นต้น แขกผู้มีเกียรติทั้งหลายต่างชื่นชมผลงานอักษรศิลป์จีนบนหน้าพัดที่นำออกแสดงในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

โอว กว่างหย่ง อดีตอุปนายกสมาคมศิลปินสาขาอักษรศิลป์จีนมณฑลกว่างตง  ปีนี้อายุ 79 ปี มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนพู่กันจีน การวาดภาพ และการแกะตราประทับ (篆刻) เข้าขั้นปรมาจารย์ เขาขึ้นพูดในงานสัมมนา มีใจความสำคัญให้ศิลปินวัยหนุ่มสาว หรือ มือใหม่ ผู้ชื่นชอบการเขียนพู่กันจีน ให้ขยันหมั่นเพียร ฝึกเขียน “เปยเถี่ย” (碑帖) หรือ แบบคัดตัวหนังสือที่พิมพ์จากตัวหนังสือที่ปรากฏในการแกะสลักของหินและไม้ เรียนรู้จากคนโบราณ ผลงานชิ้นเอกสมัยต่างๆ และสำนักต่างๆ ที่มีประวัติเป็นพันๆ ปี

图片默认标题_fororder_4连登(发言)

ส่วน เหลียน เติง  อดีตอุปนายกสมาคมศิลปินสาขาอักษรศิลป์จีนมณฑลกว่างตง ซึ่งเป็นศิลปินรุ่นอาวุโสเช่นกัน ปีนี้อายุ 74 ปีแล้ว เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากในมณฑลกว่างตงเช่นกัน และเคยไปจัดแสดงในหลายประเทศ เขาขึ้นพูดในงานสัมมนาว่า  ควรเขียนพู่กันจีนอย่างมีสมาธิ ไม่ควรคิดว่าจะนำผลงานไปขายได้เงินเท่าไร ควรสืบสานวัฒนธรรมอันรุ่งโรจน์ และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ

ด้าน รศ.เว่ย จิ่นกวาง (魏锦光) ประธานในที่ประชุมสัมมนา ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักจือยี่เมืองกว่างโจว (广州孜艺书社) คนปัจจุบัน และเป็นศิษย์เก่าสำนักจือยี่ที่ร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ระบุว่า “ศิษย์เก่าสำนักจือยี่ร่วมเล่นด้วยกันมาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น การจัดนิทรรศการครั้งนี้จึงเน้นคำว่า ‘เล่น’ ” เขายังระบุด้วยว่า ศิลปิน 10 คนจากอาจารย์คนเดียวกัน แม้จะร่วมอาจารย์ แต่ก็มีเอกลักษณ์พิเศษของแต่ละคน

图片默认标题_fororder_5梁伟超(展览主办人参展书法家)

นายเหลียง เหว่ยเชา (梁伟超) ศิษย์เก่าสำนักจือยี่ ที่มาร่วมแสดงในครั้งนี้ อายุ 50 กว่าปี ชื่นชอบการสะสมผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง มีความรู้กว้าง และมีสามารถในการเขียนพู่กันจีนมาก เขาระบุว่า การเปิดหูเปิดตา มีความรู้กว้างขวางและประสบการณ์ จะมีส่วนช่วยต่อผู้ฝึกศิลปะการเขียนพู่กันจีน

ส่วนนายเสิ่น หย่งไท่ (沈永泰) ศิษย์เก่าสำนักจือยี่ ที่มาร่วมแสดงในครั้งนี้ อายุ 50 กว่าปีเช่นกัน เขาเป็นสมาชิกสมาคมศิลปินอักษรศิลป์จีนแห่งประเทศจีน มีความเชี่ยวชาญด้านตัวหนังสือรูปจ้วงซู (篆书) และการแกะตราประทับ ผลงานของเขาเคยเข้าร่วมนิทรรศการระดับชาติและได้รับรางวัลระดับชาติหลายครั้ง

图片默认标题_fororder_6合影

ภายในงาน แขกผู้มีเกียรติอีกหลายท่านยังระบุในงานครั้งนี้ว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบ 70 ปีการสถาปนาจีนใหม่ เมื่อจีนมีอิทธิพลในโลกมากขึ้น ศิลปะพู่กันจีนจึงได้รับความนิยมในประเทศต่างๆ มากขึ้น ทำให้ศิลปินจีนมีความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมมากขึ้น

จึงกล่าวได้ว่า นิทรรศการ “คลี่พัดเล่นกับสายลม” ซึ่งจัดแสดงผลงานการเขียนอักษรศิลป์จีนบนพัดโดยศิลปินสำนักจือยี่ 10 คน ที่หอวิจิตรศิลป์หยาเตี่ยน เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง ทางภาคใต้ของจีน เป็นอีกโอกาสหนึ่งสำหรับศิลปินรุ่นอาวุโสและรุ่นหนุ่มสาวของมณฑลกว่างตงในการสืบสานศิลปะพู่กันจีนให้มีพลังชีวิตมากขึ้น

(ข้อมูลจากรายางานข่าวฉบับภาษาจีน:    

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1639745424940379691&wfr=spider&for=pc)

(TIM/LING)

  • เสียงข่าวประจำวัน (23-11-2567)

  • เกาะกระแสจีน (23-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (22-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (22-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (22-11-2567)

周旭