เมื่อย่างเข้าไปฤดูใบไม้ร่วง อากาศร้อนจัดได้ผ่านไปแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่น่าเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ วันนี้ ขอแนะนำ “หมู่บ้านหงชุน” หมู่บ้านที่มีธรรมชาติสวยงามเหมือนภาพวาด ณ มณฑลอันฮุย ให้ท่านผู้ฟังค่ะ
“ชีวิตหนึ่งนี้ใฝ่หาแดนสวรรค์ ไม่คิดฝันว่ามีแท้ที่ฮุยโจว” นี่เป็นบทขับร้องอมตะพันปีของ “ทัง เสียนจู่” นักประพันธ์บทละครสมัยราชวงศ์หมิง ที่ได้เอ่ยถึงชีวิตที่มีความสุขใน “สวนดอกท้อ-แดนสุขาวดีในฝัน” เมืองโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ที่หมู่บ้านหงชุนแห่งนี้ ซึ่งสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้จัก นั่นก็เพราะสถาปัตยกรรมสไตล์อันฮุยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น กำแพงหัวม้าสูงชัน ดอกบัวกลางบึงน้ำ ตลอดจนสะพานโค้งสูงราวรุ้งกินน้ำตัวงาม
หมู่บ้านหงชุน ก่อตั้งขึ้นต้นราชวงศ์ซ่งใต้ ถึงปัจจุบันนี้มีประวัติศาสตร์กว่า 870 ปีแล้ว ตระกูลวังเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านหงชุนขึ้น โดยอพยพมาจากหมู่บ้านเดิมเนื่องจากเกิดอัคคีภัย จึงออกเดินทางและมาสร้างบ้านเรือนสิบสามหลังที่บริเวณเขาเหลยกัง และกลายเป็นหมู่บ้านหงชุนที่แสนงามแห่งนี้ ซึ่งลักษณะเด่นของหมู่บ้านหงชุน คือ มีการวางผังเหมือนรูปวัวในสวนดอกท้อ แดนสวรรค์ในนิยายจีนโบราณ เบื้องหลังอิงเทือกเขาหวงซานที่มีความสูงสง่า ประกอบกับสีสันของภูเขาที่ตัดกับกำแพงสีขาวกระเบื้องเทา และมีเงาตกสะท้อนในบึงน้ำ จึงมีทัศนียภาพสวยงามราวกับภาพวาดพู่กันจีน
ยามรุ่งเช้าที่มีสายฝนโปรยปราย เมื่อเดินเลียบไปตามทางภูเขาที่ชื้นแฉะ ขึ้นไปบนยอดเขาเหลยกังที่เปรียบได้กับส่วน “หัววัว” ของหมู่บ้านหงชุน หยาดฝนตกกระทบใบไม้เสียงดังติ๋งๆ ย่ำไปบนพรมใบไม้ร่วงอันอ่อนนุ่ม ค่อยๆ ปีนขึ้นไปบนยอดเขา สายหมอกบางๆ ปกคลุมป่าเขา ราวกับอยู่แดนสวรรค์
และเมื่อฤดูหนาวมาเยือน สัตว์ปีกสัตว์สี่เท้าต่างหลบเร้น บรรยากาศในป่าจะเงียบสงัดเป็นพิเศษ ใบไม้แห้งสีเหลืองทองตกเกลื่อนทั่วพื้นดิน ต้นไม้โบราณสูงเสียดฟ้าเรียงรายเป็นทิวแถว ดูเหมือนกองทหารตั้งแถวยืนตรงอยู่บนยอดเขา เฝ้ารักษาการประจำหมู่บ้านเก่าแห่งนี้
เมื่อยืนบนยอดเขา สูดสมหายใจเบาๆ เอาอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่ภายในร่างกาย ลองทอดสายตามองออกไป ภาพอิฐเขียวกระเบื้องดำของหมู่บ้านใกล้เคียง สงบเก่าแก่เรียบง่าย ขุนเขาที่อยู่ไกลลิบเลือนราง สายหมอกเบาบางจากยอดเขาค่อยๆ แผ่ซ่านลงมา ชวนให้รู้สึกผ่อนคลายได้อย่างดี
เมื่อลงจากภูเขาเหลยกัง เดินเข้าซอยเล็กๆ หยาดฝนไหลย้อยจากชายคาบ้าน ลำธารคดเคี้ยวเลียบไปตามซอกซอย หรือในชื่อที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า “ท้องร่อง” นี้ เป็นระบบเส้นทางน้ำที่สำคัญของหมู่บ้านหงชุน จะแบ่งออกเป็นท้องร่องบนและท้องร่องล่าง เหมือนเป็น “ลำไส้วัว” ที่ไหลผ่านไปทั่วหมู่บ้านหงชุน หากคนต่างถิ่นเดินเที่ยวหลงทางในหมู่บ้าน ก็เพียงเดินทวนน้ำขึ้นไปก็จะพบที่ตั้งของบ้านพักได้แน่นอน
เมื่อเดินเลียบตามทางไปเรื่อยๆ จะพบ “กำแพงหัวม้า” บนอิฐเขียวกระเบื้องดำ นอกจากมีนัยแฝงความหมายดีๆ ว่า “หนึ่งม้านำชัย” ลักษณะพิเศษของหัวม้ายังมีประโยชน์ในการป้องกันไฟด้วย แสดงถึงภูมิปัญญาของคนโบราณในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่พร้อมด้วยประโยชน์ใช้สอยด้วย
การดำเนินชีวิตในเมืองของคนปัจจุบัน คุ้นเคยกับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นปูนซีเมนต์เหล็กกล้าที่ไร้ซึ่งอารมณ์และความอบอุ่น กำแพงหัวม้าที่เก่าแก่ดูเรียบง่ายนี้ จึงปลุกหัวใจผู้มาเยือนให้ตื่นขึ้น