กระบวนการกลับคืนสู่จีนของฮ่องกงต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากนานัปการ แต่กรณีของมาเก๊ากลับเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการเจรจาระหว่างจีน-โปรตุเกสในประเด็นมาเก๊ากลับคืนสู่มาตุภูมินั้นเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุสำคัญจะต้องย้อนไปกล่าวถึงการปฏิวัติครั้งหนึ่งในประเทศโปรตุเกสช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปี 1974 รัฐบาลเผด็จการที่ปกครองโปรตุเกสเป็นเวลานานถึงครึ่งศตวรรษถูกโค่นล้มโดยคณะกรรมการกู้ชาติที่ประกอบด้วยนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ผู้คนเรียกรัฐประหารครั้งนี้ว่า “การปฏิวัติ 25 เมษายน” หลังการปฏิวัติ รัฐบาลใหม่โปรตุเกสได้ยกเลิกการใช้นโยบายลัทธิอาณานิคม โดยให้อาณานิคมในทวีปแอฟริกาเป็นเอกราช จากนั้น ตั้งแต่ปลายปี 1975 ก็เริ่มถอนทหารออกจากมาเก๊า ในเวลาต่อมา โปรตุเกสประกาศบทบัญญัติการบริหารมาเก๊า โดยรับรองมาเก๊าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน และปกครองโดยโปรตุเกส
ตอนจีนและโปรตุเกสสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในทศวรรษ 1980 โปรตุเกสยืนยันกับจีนอย่างเป็นทางการว่า มาเก๊าเป็นดินแดนของจีน
ตอนที่จีนและโปรตุเกสเริ่มเจรจาในการแก้ไขปัญหามาเก๊าในทศวรรษ 1980 นั้น ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอธิปไตยของมาเก๊าได้แก้ไขเรียบร้อยไปแล้ว ซึ่งต่างจากกรณีในฮ่องกงที่ต้องกลายเป็นประเด็นปัญหาที่ยุ่งยากมาก เพราะฉะนั้น การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายมีพื้นฐานที่ดี ตอนร่างปฏิญญาร่วม จึงสามารถบรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์อย่างรวดเร็วเรื่องอธิปไตย โดยมีการระบุในปฏิญญาร่วมว่า จีนและโปรตุเกสร่วมกันแถลงว่า มาเก๊าเป็นดินแดนของจีน จีนจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจอธิปไตยในมาเก๊า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีฮ่องกง อังกฤษไม่ยอมพูดอย่างชัดเจนว่า ฮ่องกงเป็นดินแดนของจีน ในแถลงการณ์ร่วมจีน-อังกฤษจึงต้องใช้คำว่า “การกลับคืนสู่มาตุภูมิของฮ่องกงนั้นเป็นความปรารถนาร่วมกันของประชาชนทั่วประเทศจีน จีนตัดสินใจจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจอธิปไตยในฮ่องกง ส่วนฝ่ายอังกฤษจะคืนฮ่องกงให้แก่จีน ”
เมื่อสามารถแก้ไขปัญหาอธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหาเชิงหลักการได้แล้ว ประเด็นปัญหาหลักที่ต้องได้รับการแก้ไขในการเจรจาต่อมาระหว่างจีน-โปรตุเกสก็คือ วันเวลาที่จีนจะกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยในมาเก๊า ช่วงเวลานั้น โปรตุเกสอยากให้ยืดเวลาออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทางที่ดีจะยืดออกไปจนถึงศตวรรษที่ 21 แต่จีนพิจารณาถึงสถานการณ์โดยรวมของภารกิจรวมจีนเป็นเอกภาพ และเห็นว่า ต้องให้มาเก๊ากลับคืนสู่มาตุภูมิก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม วันเวลามาเก๊ากลับคืนสู่มาตุภูมิสามารถทิ้งห่างจากวันเวลาฮ่องกงกลับคืนสู่จีนสักเล็กน้อย ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาการเจรจาในประเด็นปัญหานี้ค่อนข้างมาก สุดท้ายก็ตกลงกันได้ว่า จีนจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจอธิปไตยในมาเก๊าตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม ปี 1999 คือ 10 วันก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20
เนื่องจากจีน-โปรตุเกสมีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด รวมทั้งจีนได้พิจารณาถึงเอกลักษณ์และสภาพความเป็นจริงของมาเก๊า ดังนั้น ตอนร่างนโยบายต่อมาเก๊าบนพื้นฐานแนวทาง “หนึ่งประเทศสองระบบ” รัฐบาลจีนได้คำนึงถึงความเห็นและความต้องการที่สมเหตุสมผลของฝ่ายโปรตุเกสอย่างมาก เช่น ในมาเก๊า มีชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่งที่ บรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนของพวกเขาอาศัยอยู่ในมาเก๊า ซึ่งคนกลุ่มนี้มีฐานะทางสังคมและผลประโยชน์พิเศษ จีนยืนยันในแถลงการณ์ร่วมว่า จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวโปรตุเกสกลุ่มนี้ตามกฎหมาย อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น โปรตุเกสให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรมและบทบาทของโปรตุเกสในมาเก๊า จีนเห็นว่า ความต้องการดังกล่าวมีความสมเหตุสมผล จึงมีการระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า จะอนุรักษ์โบราณวัตถุในมาเก๊าตามกฎหมาย อีกทั้งเห็นด้วยให้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาทางการ และเป็นภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนได้ นอกจากนี้ ยังได้เน้นความสำคัญด้านวัฒนธรรม การศึกษา และภาษาของมาเก๊าด้วย
สำหรับการจัดวางการรับมอบอำนาจการปกครองบริหารของมาเก๊านั้น จีนเห็นว่า โปรตุเกสถอนทหารออกจากมาเก๊าไปนานแล้ว จึงไม่มีปัญหาการรับมอบการดูแลทางการทหารอย่างกรณีฮ่องกง ด้วยเหตุนี้ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจึงไม่ได้ยาตราทัพเข้าไปในมาเก๊าในวินาทีรับมอบอำนาจการปกครองช่วงเที่ยงคืน แต่ได้เข้าไปในมาเก๊าอย่างองอาจช่วงกลางวันของวันที่มาเก๊ากลับคืนสู่มาตุภูมิ
ช่วงเปลี่ยนผ่านของมาเก๊ายาวนานพอๆกับกรณีของฮ่องกง แต่ประเด็นปัญหาที่ต้องเผชิญมีความแตกต่างกัน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มาเก๊าต้องแก้ไขปัญหาหลัก 3 ประการ คือภาษา บุคลากร และกฎหมาย โดยจีนได้ใช้ความพยายามมาโดยตลอด เพื่ออำนวยความสะดวก และช่วยเหลือฝ่ายโปรตุเกสแก้ไข 3 ประเด็นปัญหาดังกล่าว ตอนนั้น แม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดเห็นกันบ้าง แต่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยโต้แย้งกันอย่างเปิดเผย สุดท้ายก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยผ่านการพูดคุยเจรจากัน
ช่วงเวลานั้น ผู้นำของทั้งสองประเทศเคยเยือนซึ่งกันและกันหลายครั้ง ในการเยือนทุกครั้ง ปัญหามาเก๊าย่อมเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยเจรจาระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ กล่าวได้ว่า ความร่วมมือด้วยดีในปัญหามาเก๊านั้นได้ส่งเสริมให้มิตรสัมพันธ์ของสองประเทศพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1991 จีนและโปรตุเกสบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการให้ภาษาจีน และภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาทางการของมาเก๊า ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขประเด็นปัญหาหลัก 3 ประการ
มาเก๊าเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ของตน ในพื้นที่แห่งนี้ มีทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน โปรตุเกส และมาเก๊าเอง พี่น้องร่วมชาติชาวมาเก๊ามีประเพณีรักมาตุภูมิมาเป็นเวลายาวนาน ดร.ซุนยัตเซ็น ก็เคยอาศัยอยู่และเปิดคลินิกรักษาคนไข้ที่นั่น นายเสี่ยน ชิงไห่ คีตกวีชื่อดัง ผู้แต่งเพลง “ร้องประสานเสียงแม่น้ำหวงเหอ” ก็เป็นชาวมาเก๊าเช่นกัน
ตอนนั้น นายซัมปาอิโอ ประธานาธิบดีโปรตุเกสเคยกล่าวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนว่า เขาสนใจในเรื่องมาเก๊าจะสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนได้หรือไม่หลังกลับคืนสู่จีน อีกทั้งยังได้แสดงความหวังว่า หลังสิ้นสุดช่วงระยะผ่าน มาเก๊าจะเป็นปัจจัยทางบวกใหม่ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-โปรตุเกส
ในวันที่ 20 ธันวาคม ปี 1999 พิธีส่งมอบอำนาจการปกครองมาเก๊าคืนกลับสู่จีนดำเนินไปด้วยความราบรื่น จนถึงบัดนี้ ฮ่องกงและมาเก๊าต่างได้กลับคืนสู่มาตุภูมิเรียบร้อยแล้ว ประชาชนจีนมีความหวังมากยิ่งขึ้นในการรอคอยไต้หวันกลับคืนสู่อ้อมกอดของมาตุภูมิเช่นกัน เพื่อให้ภารกิจยิ่งใหญ่ในการรวมจีนเป็นเอกภาพนั้นประสบความบริบูรณ์พูนสุขเต็มร้อย
(yim/cai)