บรรยากาศเทศกาลตรุษจีนในต่างแดน (2)

2020-01-31 17:58:09 | CRI
Share with:

อันที่จริงแล้ว เทศกาลตรุษจีนไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในบรรดาประเทศในทวีเอเชียเท่านั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนยังได้ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกในวงกว้างยิ่งขึ้น มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ  มากขึ้น บรรยากาศเทศกาลตรุษจีนได้ข้ามทวีป มหาสมุทร ซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศโลกตะวันตกเช่นเดียวกัน

图片默认标题_fororder_1

สหรัฐฯ

การติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างจีนและทวีปอเมริกาเหนือ ย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ในปี ค.ศ.1784 เรือบรรทุกสินค้า  “ฮองเฮาจีน” (Empress of China) ของสหรัฐฯ เดินทางถึงท่าเรือนครกว่างโจว ถือเป็นจุดเริ่มต้นการติดต่อทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ การติดต่อทางการค้านำมาซึ่งการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนสองประเทศ วัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายจึงมีอิทธิพลต่อกัน บันทึกทางการของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ ระบุว่า ชาวจีนได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1820 ตลอด 200 ปีมานี้ กลุ่มชาวจีนที่อพยพไปใช้ชีวิตในสหรัฐฯ มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากชาวเม็กซิกัน มีชุมชนชาวจีน หรือ ไชน่าทาวน์ กระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ แม้จะดำรงชีวิตในสังคมที่มีวัฒนธรรมต่างจากมาตุภูมิเป็นอย่างมาก แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองไว้เป็นอย่างดี กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในสหรัฐฯ มาจากมณฑลต่าง ๆ ทั่วทั้งจีน จึงมีหลากหลายชนเผ่า หลากหลายอาชีพและแวดวง ดังนั้น กิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนโพ้นทะเลในสหรัฐฯ จึงมักจะมีความหลากหลายเช่นกัน อาทิ การจัดงานราตรีเฉลิมฉลองตรุษจีน พิธีเซ่นไหว้ กิจกรรมชิมอาหารเลิศรส และกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาจีนในสหรัฐฯ เป็นต้น  เคยมีนักวิจัยระบุว่า ร้อยละ 97 ของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ต้องฉลองเทศกาลตรุษจีน เช่นเดียวกับประชาชนจีนทั้งหลาย  สมาชิกครอบครัวทุกคนจะรวมตัวกัน เตรียมอาหารค่ำคืนส่งท้ายปีเก่า  ผู้ใหญ่แจกอั่งเปาให้ลูกหลาน ติดตัวอักษร “福” และ “ชุนเหลียน”  (กลอนคู่) สองข้างประตู และติดกระดาษสีแดงบนหน้าต่าง เป็นต้น ที่สำคัญเรื่องที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลตรุษจีนของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้คือ การดู “ชุนหวั่น” งานราตรีคืนส่งท้ายปีเก่า ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และติดต่อกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เพื่ออวยพรปีใหม่ หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า “ป่ายเหนียน” นั่นเอง

图片默认标题_fororder_2

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ได้กำหนดวันตรุษจีนเป็นวันหยุดสาธารณะ นอกจากนี้ หน่วยงานทางการนครนิวยอร์กยังอนุญาตให้ไชน่าทาวน์แมนฮัตตัน และฟลัชชิงไชน่าทาวน์  สามารถจุดประทัดฉลองตรุษจีนได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ตึกเอ็มไพร์สเตตซึ่งถือว่าเป็นแลนด์มาร์คของนครนิวยอร์ก ได้เริ่มเปิดไฟสีแดงและสีทองโดยเฉพาะ เพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากภูมิภาคเอเชีย ที่ออกแสตมป์นักษัตรประจำปีตามปฏิทินจันทรคติจีน โดยในปี ค.ศ.1993  เพื่อรำลึกคุณงานความดีของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่มีต่อสังคมอเมริกัน  สำนักงานใหญ่ไปรษณีย์ของสหรัฐฯ จึงได้ออกแสตมป์ปีระกา  เช่นเดียวกับแคนาดาที่ออกแสตมป์นักษัตรประจำปีในทุกเทศกาลตรุษจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 เป็นต้นมา

อังกฤษ

图片默认标题_fororder_3

เทศกาลตรุษจีนในประเทศอังกฤษกล่าวได้ว่า ทางการประเทศอังกฤษให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในประเทศอื่น ๆ ผู้คนมักเฉลิมฉลองตรุษจีนในบริเวณไชน่าทาวน์เป็นหลัก แต่สำหรับอังกฤษแล้ว ตั้งแต่ปี  ค.ศ.2003 เป็นต้นมา ได้กำหนดสถานที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่จัตุรัสทราฟัลการ์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน โดยมีการเดินขบวนพาเหรด และการแสดงรูปแบบต่าง ๆ ให้กับผู้ชมในทุกปี  ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะประชาสัมพันธ์ข่าวการจัดกิจกรรมตรุษจีนบนเว็บไซต์ทางการล่วงหน้าเกือบ 1 เดือน เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนผู้คนที่ร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีที่แล้วมีจำนวนมากกว่า 7 แสนคน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นชาวอังกฤษ ประชาชนอังกฤษร่วมกับชาวจีนโพ้นทะเลในอังกฤษไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างพากันออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนตามประเพณีจีน ผู้คนต่างแต่งตัวแบบจีนรวมตัวกันที่จัตุรัสทราฟัลการ์ ชมการแสดงเชิดสิงโต เขียนตัวอักษร “福” ตัดกระดาษสีแดง และส่งคำอวยพรแก่กัน พร้อมกับหวังว่าจะประสบความราบรื่นและความสำเร็จในปีใหม่

เยอรมนี

图片默认标题_fororder_4

ในประเทศเยอรมนี มีอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่า Dietfurt อำเภอแห่งนี้ มีประชากรไม่กี่พันคน มีพื้นที่ไม่มาก แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ หากค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอแห่งนี้บนเว็บไซต์กูเกิลจะพบว่า  อำเภอแห่งนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับประเทศจีน เพราะในทุก ๆ ปี เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ที่นี่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ โดยชาวบ้านจะใช้โคมไฟสีแดงตกแต่งทั่วทั้งอำเภอ คำอวยพรที่เขียนเป็นภาษาจีนจะสามารถพบเห็นได้ทุกแห่ง ทุกคนแต่งตัวแบบจีน เดินขบวนพาเหรด จนบางคนถึงกับรู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวจีนแท้ ๆ  กิจกรรมดังกล่าวนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1928 จนถึงปัจจุบันมีการจัดงานติดต่อกันเป็นเวลากว่า 90 ปีแล้ว แต่ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาของประเพณีนี้อย่างแท้จริง คนจำนวนไม่น้อยคาดเดาว่า อาจเป็นเพราะการติดต่อการค้าในสมัยโบราณ จึงทำให้ชาวบ้านในอำเภอ Dietfurt มีความผูกพันกับประเทศจีน เกิดความชื่นชอบวัฒนธรรมจีน จนถือเทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลสำคัญของตนเองเช่นกัน ทุกวันนี้ กิจกรรมเฉลิมฉลองตรุษจีนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอ Dietfurt ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 2 หมื่นคน เดินทางมาที่นี่ เพื่อสัมผัสบรรยากาศของเทศกาลตรุษจีนร่วมกัน

ไม่เพียงแต่ประเทศที่ได้กล่าวมาข้างต้นที่ให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิล เนเธอร์แลนด์ และสเปน เป็นต้น ยังล้วนมีกิจกรรมเฉลิมเทศกาลตรุษจีนที่หลากหลายเช่นกัน ปัจจุบัน การพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้จีนมีฐานะในสังคมโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนวัฒนธรรมจีนก็ได้เผยแพร่ไปทั่วโลกในวงกว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้นเช่นกัน

(Tim/Zi)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)

张丹