การระบาดของโควิด-19 ที่มีจุดศูนย์กลางในเมืองอู่ฮั่นทำให้นึกถึงการเสด็จฯ เยือนเมืองอู่ฮั่นหลายครั้งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการสารสนเทศตามพระราชดำริที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น รวมไปถึงงานพระราชนิพนธ์แปลที่เกี่ยวข้องกับเมืองอู่ฮั่น
ย้อนไปในทศวรรษ ปี 1990 กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เยือนเมืองอู่ฮั่นเป็นครั้งแรก ทรงศึกษาเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลและดาวเทียม ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรังวัดและการทำแผนที่เมืองอู่ฮั่น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีน-ไทย ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นได้ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์แด่กรมสมเด็จพระเทพฯ จากนั้นปี ค.ศ. 2007 กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงนำคณะจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเยือนมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ทรงพระราชดำริให้สองฝ่ายลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับการก่อตั้งศูนย์วิจัยสิรินธร ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศอวกาศที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ต่อมาในปี ค.ศ. 2013 พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนเมืองอู่ฮั่นอีกครั้ง และทรงเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายศูนย์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโครงการพระราชดำริแรกในประเทศจีนของกรมสมเด็จพระเทพฯ
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงขยายความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย จากด้านวัฒนธรรมสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้แสดงบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยธรรมชาติ การคมนาคมอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และการท่องเที่ยวอัจฉริยะในประเทศไทย
ด้านวรรณกรรม กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์แปลจากนวนิยายจีนเรื่อง “นารีนครา” ผลงานของนักประพันธ์เมืองอู่ฮั่น พระราชนิพนธ์แปลเรื่องนี้มาจากนวนิยายเรื่อง “ทาเตอเฉิง” ซึ่งแปลเป็นไทยตรง ๆ คือ เมืองของเธอ ที่เขียนโดยนางฉือ ลี่ นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของเมืองอู่ฮั่น
ฉือ ลี่ เกิดที่อำเภอเซียนเถา มณฑลหูเป่ย ในปี ค.ศ. 1957 เคยศึกษาวิชาแพทย์ ต่อมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยอู่ฮั่น เอกภาษาและวรรณคดีจีน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เธอทำงานเป็นบรรณาธิการของนิตยสารฉบับหนึ่ง และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวรรณคดีเมืองอู่ฮั่น ปัจจุบัน เธอเป็นประธานสหพันธ์วรรณคดีเมืองอู่ฮั่น ฉือ ลี่ ใช้ชีวิตในเมืองอู่ฮั่นมาโดยตลอด เธอบอกว่า ฉันเป็นของอู่ฮั่น อู่ฮั่นเป็นของฉัน ฉันคือต้นหญ้าเล็ก ๆ ต้นหนึ่งบนผืนแผ่นดินอู่ฮั่น อู่ฮั่นจะเป็นฉากหลังในงานเขียนของฉันตลอดไป และเป็นหน้าต่างบานหนึ่งที่ฉันจะใช้สำรวจ สืบเสาะค้นหาสังคมตลอดกาล
นวนิยายเรื่อง “นารีนครา” เป็นเรื่องเกี่ยวกับสตรี 3 คน 3 วัย ที่มีชีวิตผูกพันซึ่งกันและกัน เป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ของเมืองอู่ฮั่น ซึ่งผู้อ่านจะได้เรียนรู้ชีวิตและสถานะของหญิงสาวอู่ฮั่นที่ต้องเผชิญหลังการแต่งงาน รวมไปถึงชะตากรรมของคนแต่ละรุ่นในสายธารชีวิตอันยาวนาน
สตรีตัวเอกในนวนิยายโศกเศร้าจากสามีเสียชีวิต จึงมีสุขภาพทรุดโทรม เธอรู้สึกผิดว่า ตอนที่สามีของเธอมีชีวิตอยู่ เธอได้นอกใจไปบ้าง ผู้ที่ทำให้เธอพ้นจากความเศร้าโศกคือแม่สามี ทำให้ลูกสะใภ้เกิดกำลังใจ ลุกขึ้นมาประกอบธุรกิจเปิดร้านขัดรองเท้า และว่าจ้างคนงานหญิงอีกวัยที่มีปัญหาครอบครัวมาช่วยกันแก้ปัญหา ตลอดทั้งเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงใจหญิงแท้จริงแกร่งดั่งเหล็กกล้า อีกทั้งยังสอดแทรกเรื่องราว สถานที่ วัฒนธรรม และอาหารของเมืองอู่ฮั่น เห็นภาพของเมืองเก่าแก่ที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม เสน่ห์ เอกลักษณ์ของตัวเอง ช่างเป็นเรื่องที่อ่านสนุกและมีสาระมากมายให้ครุ่นคิด
นวนิยายเรื่อง “นารีนครา” ดำเนินเรื่องโดยใช้ฉากเมืองอู่ฮั่น กล่าวถึงเมืองอู่ฮั่นตลอดเรื่อง อ่านแล้วให้ความรู้สึกคิดถึงเมืองอู่ฮั่น จนทำให้จำชื่อเมืองนี้ได้แม่น ใครอยากเห็นภาพชีวิตคนอู่ฮั่น รู้จักเมืองอู่ฮั่น แนะนำให้อ่านพระราชนิพนธ์แปล “นารีนครา” ในกรมสมเด็จพระเทพฯ
นวนิยายเรื่อง “ทาเตอเฉิง” เผยแพร่ในจีนเมื่อปี ค.ศ. 2011 ส่วนพระองค์ทรงอ่านในปี ค.ศ. 2012 ทรงโปรดปรานจนวางไม่ลง จึงทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นฉบับภาษาไทย ในชื่อว่า “นารีนครา” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์และวางจำหน่ายในประเทศไทยด้วย
มีรายงานว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงอ่านนิตยสารบนเครื่องบิน ซึ่งเล่าถึงประวัติและผลงานของนางฉื่อ ลี่ จึงทรงถามครูผู้ถวายพระอักษรภาษาจีนทำให้ทรงทราบว่า นักเขียนท่านนี้มักเขียนเรื่องบทบาทของสตรีจีนที่น่าสนใจ จากที่พระองค์ทรงโปรดการแปลหนังสือเพราะได้ประโยชน์ ทำให้รู้จักคำศัพท์ สำนวนต่าง ๆ และทำให้ทรงเข้าใจภาษาจีนดีขึ้น พระองค์จึงทรงแปล “นารีนครา” สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
พระองค์ทรงอ่านวรรณคดีจีน ทำให้ทรงเข้าใจถึงจิตใจของคนจีน และนำมาถ่ายทอดแก่ผู้อ่านชาวไทย เพื่อจะได้เข้าใจคนจีนดีขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนให้ดียิ่งขึ้น