เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สองสามีภรรยาชาวเมืองอู่ฮั่น ที่ติดเชื้อโควิด-19 หายดีออกจากโรงพยาบาลพร้อมกัน โดยฝ่ายภรรยาเป็นผู้ป่วยหนักด้วยซ้ำ ซึ่งทีมรักษาเปิดเผยว่า การรักษาผู้ป่วยสองรายนี้ ได้อาศัยศาสตร์ด้านแพทย์แผนโบราณจีนผสมผสานเข้ากับวิธีของแพทย์แผนปัจจุบัน ปรากฏว่าประสบผลดีที่น่าพอใจ ซึ่งตลอดหลายวันมานี้ มีข่าวทำนองนี้ออกมาต่อเนื่อง
แพทย์แผนจีน+แพทย์แผนตะวันตก สร้างผลงานยอดเยี่ยม
ข้อมูลจากโรงพยาบาลแพทย์แผนโบราณจีนมณฑลหูเป่ยแสดงว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา นายจางและนางหยาง คู่สามีภรรยาต่างมีอาการไข้ขึ้นสูง หายใจติดขัดและไอ จึงนำเข้าห้องแยกรักษาแผนกโรคปอดของโรงพยาบาล ต่อมาถูกวินิจฉัยว่า เป็นโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19
นายแพทย์เฝิง อี้ แผนกโรคปอดของโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนมณฑลหูเป่ยเล่าว่า ตอนผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล นางหยางฝ่ายภรรยาอาการหนักกว่าสามี เพราะมีการติดเชื้อที่ปอดเป็นบริเวณกว้าง และมีภาวะการหายใจล้มเหลวร่วมด้วย ต้องรีบทำการต้านไวรัสและลดการอักเสบ โดยใช้วิธีรักษาแบบแพทย์แผนจีนร่วมด้วยอย่างเร่งด่วน
นายแพทย์เฝิง อี้ชี้ว่า สำหรับผู้ป่วยหนักต้องระวัง 2 เรื่อง คือ เสียชีวิตกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลกระทบที่ตามมา เช่น เนื้อเยื่อปอดถูกทำลาย การเกิดพังผืดที่ปอด เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การใช้แพทย์แผนจีนร่วมรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สามารถช่วยเรื่องบำรุงปอดได้อย่างดี ลดความเสี่ยงหรือสามารถป้องกันไม่ให้มีผลกระทบตามมาภายหลังได้ ภายหลังผ่านการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบันร่วมกันเป็นเวลา 15 วัน อาการของสองสามีภรรยาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในที่สุด โดยนางหยางเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักและรักษาหายดีได้เป็นรายแรกของโรงพยาบาล นี่ไม่เพียงพิสูจน์ให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการผสมผสานการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนกับแผนตะวันตก แต่ยังสร้างความมั่นใจอย่างมากให้กับบุคลากรการแพทย์ทั้งหลายที่กำลังร่วมกันต่อสู้กับไวรัสโควิด-19
แพทย์แผนจีนแสดงบทบาทสำคัญด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน
เฉา หงซิน อดีตผู้อำนวยการและเป็นหัวหน้าทีมวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนโบราณจีนเน้นว่า “อันที่จริงแล้ว ยาสมุนไพรและศาสตร์การแพทย์แผนโบราณของจีนมีความได้เปรียบเด่นชัดยิ่งในการป้องกันรักษาโรคระบาดและการเจ็บป่วยกะทันหัน” ท่ามกลางกระบวนการพัฒนาต่อเนื่องด้านการป้องกันและรักษาโรคอันยาวนานที่มีประวัติมายาวนานนับหลายพันปี มีทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์และมีความสมบูรณ์พร้อม ยกตัวอย่าง มีตำราแพทย์ “ซางหานจ๋าปิ้งลุ่น” สมัยราชวงศ์ฮั่นที่อธิบายถึงอาการและวิธีรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ หรือในช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิงที่มีโรคระบาดครั้งใหญ่หลายครั้ง ก็ได้นำไปสู่การรวบรวมเป็นตำรา “เวินปิ้งเถียวเปี้ยน”
ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีมานี้ การแพทย์แผนจีน ยังคงแสดงบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการป้องกันรักษาโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไข้เลือดออก โรคซาร์ส และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ เป็นต้น
ทั้งนี้ เจิง อี้ซิน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการอนามัยและสุขภาพแห่งชาติจีนได้ยกตัวอย่างว่า ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เมืองสือเจียจวงในมณฑลเหอเป่ย และกรุงปักกิ่ง เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้สมองอักเสบเจอีอย่างรุนแรง ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งสถาปนาประเทศจีนใหม่ขึ้น ทรัพยากรทางการแพทย์และความสามารถการรักษาพยาบาลของจีนยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อีกทั้งโรคไข้สมองอักเสบเจอีนับเป็นปัญหายากจะแก้ไขได้ในทั่วโลก ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ที่ทรงประสิทธิภาพ อัตราการเสียชีวิตในช่วงต้นของการแพร่ระบาดจึงสูงถึง 50%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นการแพทย์แผนจีนก็ได้เข้าร่วมงานรักษาโรคด้วย โดยนายแพทย์ผู่ ฝู่โจว แพทย์ชื่อดังในสมัยนั้น และมีประสบการณ์มากพอในการรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนจีน โดยได้พิจารณาสภาพอากาศของท้องถิ่น ปรับสัดส่วนของตัวยาสมุนไพรใช้กับผู้ป่วย ซึ่งมีส่วนช่วยการรักษาอย่างเห็นผลได้ชัด
ต่อมา ภายใต้ความพยายามร่วมกันของการแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนปัจจุบัน การระบาดของโรคไข้สมองอักเสบเจอีก็ได้รับการควบคุมไว้ได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จงดงามยิ่งในการใช้แพทย์แผนจีนผนวกเข้ากับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ปัจจุบัน งานป้องกันควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศจีน แพทย์แผนโบราณ์จีนก็ได้เข้าร่วมการรักษาโรคอย่างแข็งขัน
การยืนหยัดรักษาด้วยแพทย์แผนจีนร่วมกับแผนตะวันตก เป็นความได้เปรียบเด่นชัดของงานสาธารณสุขจีน
ขณะนี้ งานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในจีนมาถึงขั้นตอนอันสำคัญยิ่ง ซึ่งการยืนหยัดที่จะประยุกต์ใช้แพทย์แผนโบราณของจีนร่วมกับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ถือเป็นการเสริมส่งกัน และสร้างความได้เปรียบที่เด่นชัดยิ่งของงานสาธารณสุขจีน
หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คณะกรรมการสุขภาพอนามัยแห่งชาติจีนและกรมการแพทย์แผนจีนก็ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีนเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นทันที ระหว่างการตรวจรักษา ทีมผู้เชี่ยวชาญได้สังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังมีอาการไม่อยากอาหาร หรือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูกเป็นต้นร่วมด้วย จึงได้เสนอให้ระหว่างรักษาอาการปอดอักเสบ ยังต้องปรับสภาพม้ามและกระเพาะอาหารของผู้ป่วยด้วย
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพอนามัยแห่งชาติจีนประกาศ “แผนงานรักษาโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทดลองปฏิบัติฉบับที่ 6” โดยได้เน้นย้ำถึงคุณค่าและความสำคัญของยาสมุนไพรจีนในการรักษาโรคอีกครั้ง ซึ่งแผนงานรักษาโรคฉบับนี้ มีกรมการแพทย์แผนจีนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และมีแพทย์แผนจีนที่ชื่อเสียงและผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากหน่วยงานกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีจีนร่วมกันปรึกษาหารือและกำหนดแนวทาง ได้แก่ ศาสตราจารย์หวัง หย่งเหยียน ศาสตราจารย์เฉา เอินเสียง ศาสตราจารย์เซวีย โป๋โซ่ว ศาสตราจารย์โจว จ้งอิง ศาสตราจารย์สง จี้ไป่ และศาสตราจารย์จาง โป๋หลี่ เป็นต้น
นายอี๋ว์ เยี่ยนหง รองผู้อำนวยการ เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำกรมการแพทย์แผนจีนกล่าวว่า ทางกรมได้ยืนหยัดหลักการ “อย่างเร่งด่วน ใช้ได้จริง และมีประสิทธิภาพ” เร่งทำการวิจัยและคิดค้นยาสมุนไพร ซึ่งหลังจากการสังเกตติดตามผลแล้ว ได้แนะนำให้มีการใช้ยาต้มสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยล้างขับพิษในปอด และจากผลการรักษาผู้ป่วยใน 10 มณฑลและเมืองของจีนก็ยิ่งยืนยันให้เห็นว่า ยาสมุนไพรนี้ให้ผลการรักษาที่น่าพอใจจริง
อนึ่ง กรมการแพทย์แผนจีนและโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนจำนวนกว่า 630 แห่งจาก 28 มณฑลและเมืองทั่วประเทศจีน ได้ส่งบุคลากรการแพทย์รวมแล้วเกือบ 3,200 คนไปเสริมกำลังช่วยเหลือมณฑลหูเป่ย ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญทั้งการแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบันจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจผลักดันระบบการทำงานประสานกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่สมบูรณ์ดียิ่งขึ้น