หมู่บ้านเหยาซานหมู่บ้านชนกลุ่มน้อย จังหวัดปกครองตนเองชนเผ่าเหมียวและอี๋ มณฑลกุ้ยโจว ภาคใต้ของจีน เป็นหนึ่งในสามพื้นที่ยากจนซ้ำซ้อนที่อยู่ในเขตเขาของมณฑลกุ้ยโจว ตั้งแต่สมัยโบราณที่ชนกลุ่มนี้หนีภัยสงครามมาอยู่ในเขตเขาที่ทุรกันดาร ไม่มีที่ทำกิน ขาดเแคลนน้ำสะอาดและข้าวปลาอาหาร แต่ปัจจุบันชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ทางการท้องถิ่นส่งเสริมให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่บริเวณพื้นราบโดยลงทุนสร้างบ้านให้ฟรี ตั้งแต่ปี 1955 - 1988 ได้ย้ายชาวบ้านกว่า 500 ครัวเรือน แต่เหลืออีก 200 ครัวเรือนไม่ยอมย้ายเพราะกลัวการใช้ชีวิตใหม่
เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลจีนในการขจัดความยากจนภายในปี 2020 ระหว่างปี 2017-2019 ทางการท้องถิ่นลงทุน 60 ล้านหยวนสร้างชุมชนชื่อ"ซิงวั่ง" (แปลว่าพัฒนาเจริญ) ที่อำเภอเมืองซึ่งอยู่บริเวณพื้นราบ เพื่อรองรับชาวบ้านที่อยู่บนเขาทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเคาะประตูบ้าน เพื่ออธิบายว่าไม่ต้องกลัวการใช้ชีวิตในอำเภอจะสะดวกและจะช่วยหางานให้ทำ
เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ ผู้ที่ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านใหม่ เจ้าหน้าที่ต้องสอนให้จำเลขที่บ้านอย่าง 7 คล้ายเคียว 11 คล้ายตะเกียบคู่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังพาชาวบ้านเดินสำรวจเมือง แนะนำสถานที่ต่างๆ ทั้งตลาดสด โรงพยาบาล โรงเรียน จัตุรัส ฯลฯ
ปี 2018 รายได้เฉลี่ยของชาวหมู่บ้านเพิ่มขึ้นถึง 6,545 หยวน จึงลบชื่อ “หมู่บ้านยากจน” ออกไปได้
นายเหอ กั๋วเฉียง วัย 39 เกิดในปี 1981 เขาเล่าว่า ตอนสมัยเด็กเนื่องจากครอบครัวยากจนมาก เข้าโรงเรียนประถม 2 ปีกว่าก็ต้องออกกลางคัน เวลานั้นไม่รู้ว่าเตียงนอนคืออะไร บ้านของเขาสร้างด้วยหญ้า สมาชิกครอบครัวทั้งหมดนอนบนพื้นหญ้าธรรมชาติ
สถิติจากรัฐบาลท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า ปี 1980 รายได้เฉลี่ยต่อปีของประชาชนในหมู่บ้านต่ำกว่า 40 หยวน เนื่องจากขาดแคลนธัญญาหาร ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่กินรากกล้วยเป็นเวลานาน ทั่วทั้งหมู่บ้านมี 304 ครัวเรือน แต่มีแค่ 14 ครัวเรือนสร้างหลังที่เป็นบ้านกระเบื้อง นอกนั้นเป็นบ้านที่สร้างด้วยหญ้าทั้งหมด
นายเหอ กั๋วเฉียงโชว์ภาพถ่ายบ้านเก่ากับบ้านใหม่พร้อมกล่าวว่าบ้านใหม่นี้ดีกว่าบ้านเก่า 1,000 เท่า เมื่อก่อน ชีวิตประจำวันของเขาต้องมีสามอย่างที่ถืออยู่เป็นประจำ คือ กาเหล้า ปืนล่าสัตว์และกรงนก แต่หลังจากย้ายมาอยู่ในชุมชน 3 ปี ชีวิตของเขาไม่ต้องใช้สามอย่างนี้อีกแล้ว แต่มีความสุขอีกแบบหนึ่ง เพราะลูกสาวได้เรียนในโรงเรียน ตัวเขาและภรรยาได้ทำงานที่อำเภอ ใช้ชีวิตอย่างพอกินพอใช้
ปัจจุบันอัตราเข้าเรียนในระบบการศึกาภาคบังคับของชาวหมู่บ้านนี้คิดเป็น100% และมีนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยกว่า 30 คน ผู้บริหารหมู่บ้านบอกกับชาวบ้านว่าการมีอาหารที่พอกินก็ดี แต่ยังไม่พอ เราต้องหางานใหม่อื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น
สำหรับหมู่บ้านเก่านั้นทางการท่องเที่ยวได้ดำเนินกาปรับปรุงตกแต่งให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สร้างโอกาสการมีงานทำและเพิ่มรายได้ให้กับชาวหมู่บ้านเก่าด้วย จนถึงขณะนี้ จีนยังมี 52 อำเภอ รวมประมาณ 2,707 หมู่บ้านชนบทกำลังใช้ความพยายามเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนก่อนสิ้นปีนี้
(Bo/Lin)