สำนักข่าวจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศและธนาคารพัฒนาเอเชียร่วมกันออกรายงานฉบับหนึ่ง โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำลายเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างขนานใหญ่ และคุกคามการมีงานทำของวัยรุ่นในภูมิภาคนี้อีกด้วย
รายงานดังกล่าวมีหัวข้อว่า รับมือวิกฤตการมีงานทำของวัยรุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากผลกระทบโควิด-19 โดยระบุว่า เมื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ปัจจุบันวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี จะได้รับผลกระทบร้ายแรงกว่าผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และมีความเป็นไปได้ที่จะแบกรับต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้นและเป็นระยะยาว
รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า ความจริง ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาดแรงงานวัยรุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ได้ประสบกับการท้าทายอยู่แล้ว โดยเมื่อปี 2019 อัตราว่างงานของวัยรุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีถึง 13.8% ส่วนอัตราว่างงานของผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปในภูมิภาคนี้มีแค่ 3.0% เท่านั้น โดยมีวัยรุ่นจำนวนกว่า 160 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะที่ไม่มีงานทำ ไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมเสริมทักษะ แรงงานวัยรุ่นมี 4 ใน 5 รับจ้างนอกระบบ สัดส่วนนี้สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีแรงงานวัยรุ่น 1 ใน 4 ใช้ชีวิตอยู่ในภาวะยากลำบากปานกลางหรือยากจนสุด ๆ
รายงานฉบับนี้ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นใน 3 ด้านดังต่อไปนี้ 1.การทำงานหยุดชะงัก โดยมีเวลาทำงานสั้นลง และมีรายได้ลดน้อยลง แรงงานที่รับจ้างกับผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวจะเผชิญกับการว่างงาน 2.การศึกษากับการอบรมหยุดชะงัก และ 3.ผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่และกำลังหางานทำอยู่ หรือผู้ที่จะเปลี่ยนงานทำในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซานั้น จะประสบความยากลำบาก รายงานคาดว่า อัตราว่างงานของวัยรุ่นในประเทศฟิจิ เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราว่างงานในปี 2019
(YIM/ZHOU)