วันที่ 1 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ที่กรุงเบอร์ลิน นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ร่วมพบปะผู้สื่อข่าว
นายหวัง อี้ ระบุว่า การเยือน 5 ประเทศยุโรปครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางวิถีปกติใหม่ในการป้องกันควบคุมโควิด-19 โดย 5 ประเทศยุโรปล้วนเห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับจีน ล้วนปรารถนาให้ฟื้นการไปมาหาสู่และความร่วมมือกับจีนโดยเร็วที่สุด อีกทั้งเพิ่มการติดต่อประสานงานกับจีนเพื่อร่วมรับมือความท้าทายระดับโลก
อย่างไรก็ตาม นายหวัง อี้ รู้สึกว่า ประเทศยุโรปมีความกังวลไม่น้อย คือ หนึ่ง กังวลว่า โควิด-19 จะแพร่ระบาดทั่วโลกต่อไปทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาลงอีก สอง กังวลว่า ระบบเอกภาคีจะมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ระบบพหุภาคีได้รับผลกระทบรุนแรง และ สาม กังวลว่า จะมี “การแยกออกจากกัน” โดยฝีมือมนุษย์ ทำให้การเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างประเทศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นายหวัง อี้ พร้อมผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ประเทศยุโรป ได้ร่วมหารือกันอย่างเปิดเผยและลงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนบรรลุความเห็นชอบร่วมกันมากมาย ซึ่งมี 3 ประการที่สำคัญดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 ควรยืนหยัดระบบพหุภาคี ต่อต้านระบบเอกภาคี การเยือนยุโรปครั้งนี้ ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ของประเทศยุโรป คือ ควรรักษาระบบพหุภาคีอย่างแน่วแน่ จึงมีความเห็นชอบร่วมกันว่า จีน-ยุโรปควรประสานงานกันมากขึ้น ยืนหยัดแนวคิดพหุภาคี ใช้ปฏิบัติการพหุภาคี ปฏิบัติตามข้อตกลงพหุภาคี และสร้างเสริมกลไกพหุภาคี
ประการที่ 2 ควรเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ต่อต้าน “การแยกออกจากกัน” จึงมีความเห็นชอบร่วมกันว่า ควรเพิ่มความร่วมมือจีน-ยุโรปเพื่อต้านโควิด-19 มากขึ้น “อุทิศกำลังของจีน-ยุโรป” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก รวมถึงควรร่วมกันต่อต้าน “การแยกออกจากกัน” และการแบ่งแยก เพื่อไม่ให้โลกกลับสู่ “หลักผู้แข็งแกร่งกว่าย่อมเป็นผู้อยู่รอด” (the law of the jungle) อีกครั้ง และเพื่อมีความรับผิดชอบต่ออนาคตและชะตากรรมร่วมกันของมวลมนุษย์
และประการที่ 3 ควรรักษาภาพรวมความสัมพันธ์จีน-ยุโรป ควบคุมข้อขัดแย้งตามความเหมาะสม จึงมีความเห็นชอบร่วมกันว่า ควรยืนหยัดสถานะยุทธศาสตร์หุ้นส่วนรอบด้านจีน-ยุโรป ประเมินส่วนหลักอย่างแม่นยำเพื่อให้ความสัมพันธ์จีน-ยุโรปก้าวไปข้างหน้า สำหรับข้อขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่างจีน-ยุโรปนั้น ควรทำความเข้าใจกันมากขึ้นผ่านการเจรจาตามหลักความเสมอภาคเท่าเทียม เพิ่มความเชื่อถือต่อกันมากขึ้น เอื้ออำนวยประโยชน์แก่กันมากขึ้น ตลอดจนควบคุมจัดการด้วยวิธีการสร้างสรรค์
(TIM/LING/CAI)