สถิติจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยกว่า 100 ตัว ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา จีนใช้วิธีทางเทคโนโลยี 5 แนวทางในการพัฒนาวัคซีน ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) วัคซีนชนิดโปรตีนลูกผสม (recombinant protein vaccines) วัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นเวกเตอร์หรือตัวนำพา (adenovirus vector vaccines) วัคซีนกรดนิวคลีอิก (nucleic acid vaccines) และวัคซีนที่ใช้เชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งทำให้มีฤทธิ์อ่อนแอเป็นเวกเตอร์ (Attenuated influenza virus vector vaccine)
ต้นเดือนกันยายน ในที่ประชุมแถลงข่าวองค์การอนามัยโลก นางซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทั่วโลกมีวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนกว่า 30 ตัว เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกแล้ว ในจำนวนนี้ มีอยู่ 9 ตัวเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งเป็นของจีน 3 ตัว คือ วัคซีนแบบเชื้อตายที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีชีววิทยาจีน วัคซีนแบบเชื้อตายที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีชีววิทยาเคอซิง และวัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นเวกเตอร์หรือตัวนำพาซึ่งพัฒนาโดยทีมงานนำโดยพลตรีหญิงเฉิน เวย สมาชิกสภาวิศวกรรมจีนและนักวิจัยจากสถาบันการวิจัยแพทยศาสตร์การทหารของจีน
วันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมงานของพลตรีหญิงเฉิน เวยประกาศผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ของวัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นเวกเตอร์หรือตัวนำพา ถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการประกาศข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ของวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเป็นทางการ จากการศึกษาพบว่า หลังฉีดวัคซีนดังกล่าวเป็นเวลา 28 วัน ร้อยละ 99.5 ของผู้ได้รับวัคซีนเริ่มมีแอนติบอดีจำเพาะ ร้อยละ 95.3 มีแอนติบอดีเป็นกลาง และร้อยละ 89 มีปฏิกิริยาภูมิต้านต่อทีเซลล์เป็นพิเศษ
ปัจจุบัน จีนร่วมกับ 11 ประเทศดำเนินการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ทางคลินิกระยะที่ 3 อย่างแข็งขัน นอกจากนี้ วัคซีนที่พัฒนาโดยพลตรีหญิงเฉิน เวย ยังได้รับอนุมัติจากรัสเซียและปากีสถานให้ทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว
(Tim/Zhou)