สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดตัวศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Social Innovation Hub: CU SiHub) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ณ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย กล่าวรายงานการจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการโครงการนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมที่ท้าทาย เป็นชุมชนวิชาการที่มีพื้นที่ปฏิบัติการโครงการนวัตกรรมทางสังคม ยกระดับการขับเคลื่อนผ่านการบูรณาการสหศาสตร์ในบริบททางวิชาการระดับโลก เพื่อนำไปสู่การสร้างทางเลือกเชิงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดผลความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องยั่งยืน โดยมี รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านวิจัย เป็นผู้ประสานงานโครงการฯ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์สามประการ ประกอบด้วย การพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) การสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพ (Impactful Research and Innovation) และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) การเปิดตัวศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาฯ หรือ CU Social Innovation Hub จะส่งเสริมชาวจุฬาฯ ให้ริเริ่มหรือต่อยอดการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม สร้างงานวิจัยมุ่งนวัตกรรมเพื่อสังคม ระดมความร่วมมือจากภาคส่วนทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาฯ กล่าวว่า CU Social Innovation Hub (CU SiHub) จะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยและเป็นพื้นที่บ่มเพาะอาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ในการนำความรู้และนวัตกรรมไปแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับเนื้อหา (Content) และ บริบท (Context) ของสังคมไทย ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มุ่งตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก เป็นพื้นที่ปฏิบัติการบูรณาการสหศาสตร์ ขับเคลื่อนนวัตกรรมจากการวิจัยของชาวจุฬาฯ เพื่อตอบโจทย์สังคมที่ท้าทาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ กองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) และสำนักบริหารการวิจัย ของจุฬาฯ เช่น การบูรณาการนวัตกรรมนโยบายสังคมสูงวัย (Aging Research Innovation) การออกแบบนวัตกรรมสถาปัตยกรรมเพื่อสังคม (Design for Society) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Community and Creative Tourism) การสร้างแรงบันดาลใจเชิงมนุษยศาสตร์ (Art and Humanities for Sustainability) เป็นต้น โดยมี รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงานกองทุนศตวรรษที่ 2 ให้การสนับสนุน
รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านวิจัย จุฬาฯ และดูแล CU Social Innovation Hub กล่าวว่า “CU Social Innovation Hub มีจุดหมายในการริเริ่ม บ่มเพาะ และสร้างประโยชน์สังคม เน้นการนำนวัตกรรมทางสังคมมาช่วยสังคมโดยไม่หวังผลกำไร ผสมผสานเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอาจารย์และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในทุกสาขา โดยเฉพาะความร่วมมือจากคณาจารย์ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมาก จึงจัดตั้งศูนย์รวมเพื่อเป็นพื้นที่บูรณาการในการรวมตัวเพื่อร่วมระดมความคิดและอำนวยความสะดวกในการสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงเป็นศูนย์บ่มเพาะอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตรุ่นใหม่เป็นนวัตกรทางสังคม เพื่อให้นำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือสังคมอย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์เป้าหมาย SDG (Sustainable Development Goals) เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้สนใจร่วมพัฒนานวัตกรรมทางสังคม และยกระดับการขับเคลื่อนผ่านการบูรณาการสหศาสตร์ในบริบททางวิชาการระดับโลกร่วมกับจุฬาฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างทางเลือกเชิงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อได้ที่ CU SiHub โทร. 0-2215-7436
***********************
หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ สามารถติดต่อเพื่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณฐนิตา หวังวณิชพันธุ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร โทร. (+66) 2218 3280 หรืออีเมล thanita.w@chula.ac.th
***********************
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงติด 100 อันดับแรกของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ โดย (QS) World University Rankings 2021”