เมื่อเร็วๆ นี้ จีนร่วมกับ 10 ประเทศอาเซียน และเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ความตกลงว่าด้วยการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นการเปิดหน้าใหม่ทางการค้าเสรีของจีน และเปิดประตูให้การค้าเสรีของจีนขยายกว้างยิ่งขึ้น
ตั้งแต่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2001 เป็นต้นมา จีนทุ่มเทกำลังในการผลักดันการค้าเสรีทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด
ย้อนไปเมื่อปี 2007 การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 17 ได้จัดให้เขตการค้าเสรีเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ ต่อมาจีนได้เปิดเขตทดลองการค้าเสรีแห่งแรกที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2013 โดยถือการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การขนส่ง การบริการเฉพาะด้าน และอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูงเป็นจุดสำคัญ
ปัจจุบันจีนมีเขตทดลองการค้าเสรีจำนวน 21 แห่ง ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ของจีน โดยเป็นโครงสร้างที่ถือการพัฒนาด้านการพาณิชย์ การค้า และการเงินที่ทันสมัยเป็นจุดสำคัญ และถือการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นใหม่และมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เป็นส่วนช่วย ดำเนินการทดลองเพื่อสร้างเสรีภาพและความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และให้การบริการด้านการเงิน รองรับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2020 จีนเริ่มต้นการสร้างสรรค์ท่าเรือการค้าเสรีบนเกาะไห่หนาน โดยวางแผนจะพัฒนาทั่วทั้งเกาะให้เป็นท่าเรือการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง และมีอิทธิพลในระดับโลกช่วงกลางศตวรรษที่ 21
ด้านการผลักดันการค้าเสรีของโลก จีนได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี 19 ฉบับ กับ 26 ประเทศและภูมิภาค ข้อตกลงเหล่านี้ยกระดับการเปิดกว้างระหว่างจีนกับคู่การค้าเสรีให้มีระดับสูงกว่าระดับขององค์การการค้าโลก รายงานเกี่ยวกับการพัฒนาเขตการค้าเสรีของจีนประจำปี 2019 ที่สถาบันการศึกษาวิจัยของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่าระดับการค้าเสรีของจีนที่มีต่อคู่การค้าเสรีเฉลี่ยอยู่ที่ 90-95%
เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเป็นเขตการค้าในภูมิภาครายแรกของจีนและให้สิทธิพิเศษมากที่สุด ตั้งแต่จัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนขึ้นตั้งแต่ปี 2010 ได้มีการผลักดันเสรีภาพและความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีน-อาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันของเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างมีพลัง รายงานการปฏิบัติงาน 10 ปี เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่ประกาศในที่ประชุมผู้นำจีน-อาเซียนครั้งที่ 23 ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า จากปี 2010-2019 การค้าแบบทวิภาคีระหว่างจีน-อาเซียนเติบโตขึ้นเฉลี่ย 9.4% ต่อปี จากเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนปี 2020 ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การค้าระหว่างจีน-อาเซียนยังคงเติบโตขึ้น 5% และเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกันเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันคู่ค้าเสรีกลายเป็นการตลาดส่งออก แหล่งที่มาของการนำเข้า และเป้าหมายการลงทุนของจีน ผลไม้จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผงนมจากนิวซีแลนด์ ปลาแซลมอนจากไอซ์แลนด์ ไวน์จากโครเอเทียนและชิลีกลายเป็นสินค้ายอดนิยมของผู้บริโภคจีน ราคาสินค้าดังกล่าวก็ถูกลง ในขณะเดียวกันของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เสื้อผ้า และรองเท้าที่จีนผลิตก็เข้าสู่ตลาดบางประเทศโดยปลอดภาษี หรือเสียภาษีในระดับต่ำ ผู้บริโภคมีโอกาสและมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ มีตลาดที่กว้างขึ้น และมีคู่ค้าจำนวนมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติ และงานมหกรรมการค้าจีน-อาเซียน ฯลฯ ต่างเป็นกลไกและโอกาสที่มีส่วนเกื้อกูลต่อการค้าเสรีของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของจีนที่สนับสนุนการค้าเสรี ในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติครั้งที่ 3 ที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ระบุว่าให้ตลาดจีนเป็นตลาดโลก ตลาดแบ่งปัน และตลาดของทุกคน จีนยินดีลงนามข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานระดับสูงกับประเทศต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น และยินดีส่งเสริมการแลกเปลี่ยนกับเขตการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงในโลก
ในอนาคตจีนจะศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการลงนามข้อตกลงความก้าวหน้าอย่างครอบคลุมสำหรับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรอบมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ CPTPP ผลักดันการลงนามข้อตกลงเพื่อการลงทุนระหว่างจีน-สหภาพยุโรป เร่งพัฒนาเครือข่ายเขตการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงที่ใช้ภูมิภาครอบข้างเป็นที่ตั้ง ครอบคลุมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และมุ่งสู่ทั่วโลก เพื่อให้หนทางการค้าเสรีของจีนเปิดกว้างอย่างต่อเนื่อง
(BO/Zhou)