หลิว หยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน (3)

2020-12-07 13:05:43 | CRI
Share with:

หลิว หยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน (3)

หลิว หยาง แต่งงานในปี 2004 สามีของเธอเป็นทหารเช่นกัน  ปัจจุบัน ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน  อาชีพนักบินอวกาศต้องเสียสละ อย่างหลิว หยางและครอบครัวซึ่งได้รับเกียรติและความสนใจมาก แต่ความเสียสละและอุปสรรคที่พวกเขาต้องเผชิญ คนธรรมดามักจะไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย

การเป็นนักบินอวกาศไม่เพียงแต่ต้องท้าทายควาสลับซับซ้อน ความโดดเดี่ยว และแรงกดดันต่าง ๆ นา ๆ เท่านั้น หากยังมีอันตรายถึงชีวิต หลิว หยางเคยคุยกับสามีว่า หากเธอไม่ได้กลับมาจากอวกาศ สามีของเธอต้องทำตามสัญญา 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ต้องดูแลพ่อแม่ของเธอเป็นอย่างดี เพราะเธอเป็นลูกโทน พ่อแม่มีเธอเป็นลูกเพียงคนเดียว สอง คราวหน้า สามีเธอจะต้องแต่งงานกับหญิงที่ทำอาหารเก่ง  หลิว หยางคงหวังให้สามีของเธอได้รับการดูแลที่ละเอียดถี่ถ้วนเช่นกัน

หลังปฏิบัติภารกิจนอกโลกแล้ว หลิว หยางก็ไม่เคยหยุดที่จะฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการครั้งต่อไป เธอก็เหมือนนักบินอวกาศคนอื่น ๆ ที่หวังว่าจะได้ไปอยู่ในสถานีอวกาศของจีน โดยยอมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อสิ่งที่เธอเรียกว่าเป็น “บ้านพักตากอากาศหรูของจีนในอวกาศ”

เนื่องจากมนุษย์ยังขาดแคลนความรู้เกี่ยวกับอวกาศ ระดับเทคโนโลยีและวิศวกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถจะประกันได้ว่า ปฏิบัติการต่าง ๆ นอกโลกจะสำเร็จลุล่วงได้ 100% การคัดเลือกนักบินอวกาศจึงเข้มงวดมาก นอกจากต้องสายตาดีและไม่มีบาดแผลบนผิวหนังแล้ว เงื่อนไขบังคับอันดับแรก คือ ต้องมีประสบการณ์ขับเครื่องบินรบอย่างน้อย 1,000 ชั่วโมงขึ้นไป ความจริง คือ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศของจีนนั้นส่วนใหญ่ขับเครื่องบินรบมาเป็นเวลาประมาณ 2,000 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ บรรดานักบินที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวจึงมีอายุเฉลี่ย 32 ปีขึ้นไป ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ก็แต่งงานแล้ว

อวกาศเป็นพื้นที่ที่น่ามหัศจรรย์มาก มีรังสีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ประกอบความดันในยานอวกาศ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักบินอวกาศอย่างรุนแรง  นอกจากนี้ การคลอดลูกเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ของผู้หญิง สตรีที่ผ่านการมีลูกมาแล้ว ไม่ว่าสุขภาพกายหรือจิตต่างสมบูรณ์ขึ้น เมื่อเผชิญภาวะฉุกเฉิน จึงสามารถจัดการได้อย่างใจเย็น โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิต ความใจเย็นหมายความว่าจะอยู่รอดได้

หลิว หยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน (3)

ปี 2013 หลิว หยางได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ชุดที่ 12 ในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกสภา หลิว หยาง ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ทหารหญิง หลิว หยาง เห็นว่า สตรีมีบทบาทสำคัญในกองทัพ เธอยินดีเป็นตัวแทนของเหล่าทหารสตรี และยินดีเป็นกระบอกเสียงให้กับบรรดาทหารหญิง เพื่อแสวงหาโอกาสการพัฒนาที่ดีมากยิ่งขึ้นแก่พวกเธอและช่วยให้พวกเธอสานฝันเป็นจริงขึ้น  หลิว หยาง บอกว่า ความฝันอันยิ่งใหญ่ของสังคมประกอบด้วยความฝันเล็ก ๆ ของแต่ละบุคคล สตรีเราต้องใช้ความฝันเล็ก ๆ ของเราช่วยให้ความฝันอันยิ่งใหญ่ของประชาชาติประจักษ์เป็นจริงขึ้น

ในฐานะสมาชิกสภาฯ อีกเรื่องหนึ่งที่หลิว หยางให้ความสำคัญ นั่นก็คือ เรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เธอบอกว่า เราใช้ชีวิตบนโลกนี้  เรามักคิดว่า น้ำ แสงอาทิตย์ และอากาศเป็นสิ่งที่ใช้ไม่มีวันหมด มีอยู่ไปตลอด และได้มาอย่างง่ายดาย แต่เมื่ออยู่ในอวกาศ ทรัพยากรดังกล่าวที่มนุษย์พึ่งพาอาศัยและขาดมิได้นั้นหายากมาก การใช้ชีวิตบนยานอวกาศ  ทุกสิ่งทุกอย่างต้องคิดน้ำหนักเป็นกรัม ไม่ว่าน้ำ อาหาร หรือ ออกซิเจนต่างต้องคำนวณปริมาณและประหยัดการใช้อย่างเคร่งครัด การสร้างระบบนิเวศเทียมบนห้วงอวกาศต้องลงทุนมหาศาล นอกจากนี้ สิ่งของต่าง ๆ ที่เราถือครองอยู่นั้น เรามักจะไม่หวงแหน แต่เมื่อสิ่งของเหล่านี้สูญหายหรือห่างจากเราไป เราถึงจะรู้สึกว่า สิ่งเหล่านั้นล้ำค่ามาก ด้วยเหตุนี้  เธอจึงรณรงค์ให้ผู้คนทั้งหลายอนุรักษ์ระบบนิเวศเป็นพิเศษ

ช่วงระหว่างปี 2014 - 2018 หลิว หยางศึกษาต่อในคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวา และได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขานิติศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา หลิว หยางดำรงตำแหน่งรองประธานสหพันธ์สตรีแห่งชาติจีน

การเดินทางสำรวจอวกาศของหลิว หยางมีนัยสำคัญต่อทัศนคติของจีนที่มีต่อผู้หญิง เพราะเนื่องจากจีนมีระบบสังคมแบบศักดินามานานหลายพันปี หญิงจีนจึงต้องทุกข์ทนต่อความเจ็บปวดที่ต้องยอมให้ฝ่ายชายได้รับความพึงพอใจเพียงฝ่ายเดียว

จนกระทั่งสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1949  ท่านเหมา เจ๋อตง ผู้นำสูงสุดในสมัยนั้นจึงส่งเสริมเชิดชูบทบาทสตรีจีนยุคใหม่ โดยระบุว่า “สตรีสามารถค้ำจุนครึ่งหนึ่งของท้องฟ้า” ฐานะของสตรีจีนได้รับการยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบัน หลิว หยางใช้ความสามารถของเธอเองพิสูจน์ให้เห็นว่า “สตรีจีนยังสามารถค้ำจุนครึ่งหนึ่งของอวกาศได้อีกด้วย”

หลิว หยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน (3)

หลิว หยางให้ความสำคัญต่องานของสตรีเป็นอย่างยิ่ง โดยระบุว่า  การที่ฐานะของสตรีมีระดับสูงขึ้นถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า  สังคมพัฒนาก้าวหน้า  สำหรับสตรีที่มีความมุ่งมั่นจะสำรวจห้วงอวกาศ หลิว หยางแนะนำว่า ผู้หญิงก็มีศักยภาพที่จะทำงานในอวกาศได้ เพราะอดทน ประสาทสัมผัสไว และเห็นอกเห็นใจพอที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่คับแคบ

หลิว หยาง เคยเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 17 - 27 ส.ค. ปี  2017 ตามคำเชิญกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เพื่อเข้าร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2017 โดยไทยเป็นประเทศแรกที่หลิว หยาง เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมหลังเสร็จสิ้นภารกิจในห้วงอวกาศ ในครั้งนั้น หลิว หยางได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ชีวิตและการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ  โดยเฉพาะการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจที่จำเป็นสำหรับการเป็นนักบินอวกาศชั้นเยี่ยมแก่เยาวชนและบุคคลแวดวงต่าง ๆ ของไทยได้ศึกษาเรียนรู้

นอกจากไทยแล้ว หลิว หยาง ยังเคยเดินทางไปนามิเบียเป็นเวลา  5 วัน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีนามิเบีย การเยือนของครั้งนั้นเธอบรรยายกระบวนการพัฒนาการบินอวกาศของจีนแก่เยาวชนนามิเบีย นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปเยือนสถานีดาวเทียมของจีนที่ตั้งอยู่ในชานเมืองสวาคอพมุนต์ (Swakopmund) ของนามิเบีย ซึ่งเป็นสถานีควบคุมดาวเทียมแห่งแรกของจีนที่ตั้งอยู่ในซีกโลกใต้

วันที่ 24 เมษายนของทุกปี เป็นวันการบินอวกาศจีน สำหรับในปี นี้ สำนักงานการบินอวกาศจีนประกาศแต่งตั้งหลิว หยางเป็นทูตสาธารณประโยชน์ด้านการบินอวกาศของจีน

(Tim/Zhou)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-04-2567)

  • เกาะกระแสจีน (27-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-04-2567)

何喜玲