ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ จีน“คิดใหญ่-มองการณ์ไกล”พัฒนาเงินหยวนดิจิทัล

2020-12-10 10:46:05 | CMG
Share with:

ปัจจุบันการพัฒนาทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนวัตกรรมอันก้าวหน้าของจีนเป็นที่จับตามองของชาวโลกอย่างใกล้ชิด วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางจีน (CMG) รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา แสดงความชื่นชมที่จีนนับวันยิ่งกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำนวัตกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก ซึ่งมีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ เงินหยวนดิจิทัล

ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ จีน“คิดใหญ่-มองการณ์ไกล”พัฒนาเงินหยวนดิจิทัล

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ระบุว่า ก่อนจีนจะทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้เอกชนแข่งขันกันการพัฒนาฟินเทคเพื่อนำพาจีนมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านกระเป๋า E-Wallet เพื่อลดการใช้ธนบัตร อันเป็นการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เงินดิจิทัลในอนาคต ขณะนี้จีนมีผู้ใช้งานระบบการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือกว่า 620 ล้านบัญชี โดยมีสัดส่วนกว่า 90% ที่ชำระเงินผ่านระบบบุคคลที่ 3 เช่น Alipay หรือ WeChat Pay

หลายปีมานี้ภายใต้การนำของปธน.สี จิ้นผิง จีนเน้นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดเพื่อนำพาประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มที่

จีนให้ความสนใจและศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี 2014 จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2019 ธนาคารกลางของจีนประกาศเริ่มทดลองใช้เงินหยวนรูปแบบดิจิทัลโดยใช้ชื่อว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP)

ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2020 ธนาคารกลางจีนประกาศ ‘ทดสอบ’ ใช้เงินหยวนดิจิทัลใน 4 เมืองสำคัญ ได้แก่ ซูโจว เซินเจิ้น สงอัน และเฉิงตู โดยทดลองจ่ายเงินเดือนบางส่วนและเบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าหน้าที่รัฐด้วยเงินหยวนดิจิทัลผ่านธนาคารใหญ่ของจีน ทั้งยังขอความร่วมมือทดลองนำเงินหยวนดิจิทัลไปใช้ในร้านค้าขนาดใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง McDonald’s และ Starbucks

จีนนับเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการทดลองนำเงินตราในรูปแบบดิจิทัลมาใช้อย่างจริงจังและกำลังขยายพื้นที่ทดลองใช้งานด้วย

ในฐานะนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น มองว่า เงินหยวนดิจิทัลมีลักษณะเด่นหลายประการที่น่าสนใจ อาทิ เงินหยวนดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซีแต่เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ มีค่าเงินที่แน่นอนและมีความปลอดภัยหมือนเงินหยวนทั่วไปโดยผูกอิงค่า 1:1 จะไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ

เงินหยวนดิจิทัลไม่ใช่เงินสกุลใหม่และเปิดกว้างให้ใช้ได้ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย การใช้เงินหยวนดิจิทัลก็เปรียบเหมือนการใช้ธนบัตรหรือเงินสดที่เราถือในมือ ร้านค้าจะปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นเงินที่รับรองโดยธนาคารกลางของประเทศ

เงินหยวนดิจิทัลช่วยขจัดจุดอ่อนของการใช้เงินกระดาษ สามารถชำระผ่านมือถือที่มีกระเป๋าดิจิทัลได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องผูกบัญชีหรือมีสมุดธนาคาร ทั้งยังไม่จำเป็นต้องสัมผัสธนบัตรจึงใช้งานสะดวกขจัดจุดอ่อนของเงินกระดาษที่อาจสกปรกหรือปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงลดต้นทุนการพิมพ์ การเก็บรักษา ไปจนถึงกระบวนการทำลายธนบัตรที่เก่าหรือหมดสภาพ

เงินหยวนดิจิทัลสามารถใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต กล่าวคือสามารถชำระแบบออฟไลน์ได้ การใช้จ่ายโอนเงินสามารถทำผ่านเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลไร้สายด้วยคลื่นความถี่ในระยะใกล้ เพียงนำมือถือ 2 เครื่องที่มีกระเป๋าดิจิทัลมาสัมผัสกันก็สามารถโอนเงินได้

การใช้เงินหยวนดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อผู้ใช้งานจึงรักษาความลับทางการค้า สามารถทำธุรกรรมได้เหมือนใช้เงินสดปกติ

ธนาคารกลางจีน คือ ผู้คุมระบบและมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลจึงสามารถเก็บธุรกรรมของหยวนเงินดิจิทัลในระบบฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าและสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ จึงช่วยป้องกันธุรกรรมผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น กล่าวชี้ว่า ในยุคเทคโนโลยีพลิกผันพลังของผู้บริโภคยุคดิจิทัลเป็นตัวเร่งสำคัญ โดยเฉพาะพลเมืองเน็ตในจีนกว่า 900 ล้านคนจะเป็นแต้มต่อที่ทำให้เงินหยวนดิจิทัลกลายเป็นเงินสกุลดิจิทัลแรกในโลกที่ใช้งานแพร่หลายมากที่สุดอย่างรวดเร็ว อันมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการมุ่งสร้างความเป็นสากลให้กับสกุลเงินหยวนของจีน

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า จีนคิดใหญ่ มองการณ์ไกล มีการเตรียมการล่วงหน้าไว้อย่างดี ตลอดจนทุ่มเทเรียนรู้เทคโนโลยีบล็อกเชนและเทคโนโลยีทางการเงินต่าง ๆ อย่างจริงจัง

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น กล่าวทิ้งท้ายว่า ในประเด็นเงินหยวนดิจิทัลกับอนาคตการค้าไทย-จีน การผลักดันอย่างจริงจังของธนาคารกลางจีน สะท้อนว่าเงินหยวนดิจิทัลน่าจะถูกนำไปใช้ในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของจีนซึ่งรวมถึงไทย ดังนั้นการค้าไทย-จีนน่าจะมีโอกาสทำธุรกรรมรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนไทยควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

TIM/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (18-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (17-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (16-03-2567)

陆永江