เมื่อเร็วๆนี้ พันธมิตรวัคซีนแห่งประชาชน (People's Vaccine Alliance)ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบวัคซีนระหว่างประเทศออกรายงานฉบับหนึ่งว่า แม้ประชากรของประเทศที่มีรายได้สูงคิดเป็นเพียง 14% ของประชากรทั่วโลก แต่ประเทศเหล่านี้ได้สั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวนเกินครึ่งหนึ่งของทั่วโลก แคนาดาได้กักตุนวัคซีนจำนวน 5 เท่าตัวของประชากรในประเทศ แต่สำหรับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและระดับต่ำ 67 ประเทศ เช่น เคนยา พม่า ไนจีเรีย ทุก 10 คนจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่อาจได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปลายปีหน้า
พฤติกรรมของบางประเทศพัฒนาแล้ว ที่แย่งซื้อและกักตุนวัคซีนป้องกันโควิด-19นั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการทำลายความสามัคคีระหว่างประเทศในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องแบกรับ หากยังได้เปิดโปงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวที่ฝังรากลึกลงไปในตัวของนักการเมืองประเทศตะวันตก
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายแพทย์ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก(WHO)ชี้ว่า แนวทางที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคือ ประกันให้ประชากรจำนวนหนึ่งของทุกประเทศได้รับการฉีดวัคซีน แต่ไม่ใช่ให้ประชาชนของบางประเทศได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน
จีนในฐานะประเทศที่อยู่แนวหน้าของโลกในการวิจัย พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 พยายามส่งเสริมให้มีการแบ่งปันวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน จีนยังให้คำมั่นสัญญาว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จีนผลิตจะเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะของโลก จีนยังได้เข้าร่วมโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาวัคซีนจากหลายประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ จีนยังได้เสนอวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่หลายประเทศ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย และอียิปต์ จีนได้ใช้ความพยายามมาโดยตลาด เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงและมีกำลังซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19
นายแพทย์ เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเตือนประชาคมโลกว่า เราจะสามารถประสบความสำเร็จในการต้านการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประเทศที่มีระบบสาธารณสุขเปราะบางที่สุดในโลกจะสามารถป้องกันและควบคุมโควิด-19 ได้หรือไม่ เราไม่ควรให้ความเห็นแก่ตัวในเรื่องวัคซีนกลายเป็นอุปสรรคของประชาคมโลกในการต้านโควิด-19
(yim/cai)