เช้าวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2021) วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ผลิตโดยจีนเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว นับเป็น “วัคซีน” ล็อตแรกของไทยตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา การที่จีนส่งออกวัคซีนแก่ไทยในช่วงที่ไทยต้องการโดยด่วนครั้งนี้ถือเป็นสักขีพยานใหม่แห่งความสัมพันธ์ฉันมิตร “จีน-ไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” ซึ่งย่อมยกระดับสูงขึ้นอีกครั้งท่ามกลางการร่วมทุกข์ร่วมสุขระหว่างสองประเทศ
ตามสัญญาสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด ของจีน วัคซีนล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสเดินทางจากกรุงปักกิ่งถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้าของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช้าวันนี้ ส่วนวัคซีนล็อตที่สองจำนวน 8 แสนโดสและล็อตที่สามจำนวน 1 ล้านโดสจะส่งมอบแก่ไทยได้ในเดือนมีนาคมและเมษายนตามลำดับ
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่บริษัทซิโนแวค ไบโอเทคผลิตมีชื่อว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายซึ่งผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในประเทศบราซิล ตุรกี และอินโดนีเซียตามลำดับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัยสูงและมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องขององค์การอนามัยโลก วัคซีนตัวนี้ต้องการการเก็บรักษาและขนส่งในอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียสจึงสอดคล้องกับสภาพประเทศส่วนใหญ่ ที่ผ่านมามีประมุขแห่งรัฐหรือผู้นำรัฐบาลอย่างน้อย 8 ประเทศได้รับการฉีดวัคซีนจีนอย่างเปิดเผย ถือเป็นการลงคะแนนไว้วางใจความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนจีนอย่างดี
ปัจจุบัน ไทยกำลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไทยกำลังต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วนเพื่อใช้ป้องกันควบคุมโควิด-19 การมาถึงของวัคซีนจีนจะช่วยให้ไทยสามารถเริ่มฉีดวัคซีนแก่ประชาชนได้เร็วขึ้นและย่อมมีความหมายสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรค
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปรับวัคซีนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนหน้านี้ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางจีนว่า เขาเองมีความมั่นใจต่อความปลอดภัยของวัคซีนจีน จีนแบ่งปันวัคซีนแก่ไทยเป็นมิตรแท้ของไทย หลังวัคซีนจีนถึงไทยแล้ว รัฐบาลไทยจะบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพโดยจะฉีดวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในแนวหน้าและประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 เป็นลำดับแรก
เบื้องหลังการส่งวัคซีนจีนถึงไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ครั้งนี้ แยกไม่ออกจากการใช้ความพยายามร่วมกันของรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องของทั้งจีนและไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ “ไทย-จีนใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” และ “การร่วมทุกข์ร่วมสุขสื่อถึงมิตรภาพอันแท้จริง” อย่างน่าประทับใจ
จีน-ไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดและเป็นมิตรกันมาแต่ไหนแต่ไร ตลอด 46 ปี หลังจีน-ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต สองประเทศอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร ร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างมิตรภาพอย่างลึกซึ้ง ทั้งยังมีบทบาทเป็นแบบอย่างต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ กลายเป็นต้นแบบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีระบบสังคมต่างกัน ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรง เช่น ไทยประสบภัยสึนามิ ค.ศ. 2004 หรือ จีนประสบภัยแผ่นดินไหวเวิ่นชวน ค.ศ. 2008 สองฝ่ายให้ความช่วยเหลือกันอย่างเต็มกำลังความสามารถและต่างไม่เห็นแก่ตัว
ค.ศ. 2020 โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในประเทศจีนก่อน ไทยได้ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลืออย่างมากแก่จีนในการป้องกันควบคุมโรค สถาบันพระมหากษัตริย์รวมถึงรัฐบาลไทยบริจาคเวชภัณฑ์แก่จีน ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงประชาชนไทยพากันแสดงความเป็นมิตรและปรารถนาดีต่อประชาชนจีน บัดนี้ เมื่อไทยเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 รัฐบาลและประชาชนจีนพากันให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ สะท้อนถึงไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างจีน-ไทยที่คอยห่วงใยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยความจริงใจ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ “การแย่งกันสั่งจองวัคซีน” กลายเป็นประเด็นร้อนในรายงานข่าวของสื่อมวลชนนานาชาติ สื่อมวลชนไทยรายงานว่า ข้อมูลเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 ทั่วโลกสั่งจองวัคซีนแล้ว 8,200 ล้านโดส แคนาดาและอังกฤษเป็นประเทศที่สั่งจองวัคซีนมากกว่าประชากรในประเทศถึง 3 เท่า ขณะที่สหรัฐอเมริกาสั่งจอง 1.7 เท่าของจำนวนประชากร
ที่จริงแล้วปริมาณวัคซีนที่จีนผลิตได้ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ แต่จีนตระหนักดีว่ามีเพียงทุกประเทศสามัคคีกันต้านโควิด-19 เท่านั้นจึงจะเอาชนะโรคระบาดได้ในที่สุด ตลอดจนจำต้องขับเคลื่อนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษย์ ด้วยเหตุนี้พร้อมไปกับการบริหารจัดการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนภายในประเทศ จีนยังให้ความช่วยเหลือแก่นานาประเทศด้วย ทั้งนี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้ไว้ต่อทั่วโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 ที่ว่า หลังจีนค้นคว้าวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว จีนจะทำให้เป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะระดับโลก อันถือเป็นการสร้างคุณูปการแก่การเข้าถึงวัคซีนและการแบกรับค่าใช้จ่ายของบรรดาประเทศกำลังพัฒนา
ปัจจุบัน นอกจาก “โคโรนาแวค” แล้ว จีนยังมีวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่ผ่านการอนุมัติใช้งานอีกตัวซึ่งผลิตโดยกลุ่มซิโนฟาร์ม วัคซีนทั้งสองตัวนี้นับวันยิ่งได้รับการยอมรับและไว้วางใจอย่างกว้างขวางจากนานาประเทศ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จีนแก้ไขความยากลำบากของตนเอง ขณะที่กำลังให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แก่ 53 ประเทศที่มีความต้องการ ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ที่จีนให้ความช่วยเหลือแก่ปากีสถาน กัมพูชา ลาว อิเควทอเรียลกินี ซิมบับเว มองโกเลีย และเบลารุส เป็นต้น ส่งถึงประเทศปลายทางแล้ว ขณะเดียวกัน จีนกำลังส่งออกวัคซีนโควิด-19 ไปยัง 27 ประเทศที่สนใจสั่งซื้อจากจีน วัคซีนที่ส่งออกไปยังเซอร์เบีย ฮังการี เปรู ชิลี เม็กซิโก โคลัมเบีย โมร็อกโก เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี เป็นต้น เดินทางถึงประเทศปลายทางแล้วเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา จีนหวังว่าทุกประเทศที่มีขีดความสามารถจะร่วมมือกันสร้างคุณูปการอย่างแข็งขันต่อการสนับสนุนและช่วยเหลือประชาคมโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเอาชนะโควิด-19
ไทยเป็นประเทศปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย นักสังเกตการณ์มองว่า ควบคู่ไปกับการใช้วัคซีนโควิด-19 และการยกระดับทดสอบกรดนิวคลีอิก ไทยอาจริเริ่มเปิดความร่วมมือกับจีนสร้าง “ช่องสีเขียวสำหรับการท่องเที่ยว” ที่มีความปลอดภัยและคล่องตัว นำไปสู่การเปิดประตูแก่นักท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเชื่อได้ว่าประชาชนจีนจำนวนมากจะฟื้นความกระตือรือร้นในการเดินทางท่องเที่ยวอันมีส่วนช่วยธุรกิจท่องเที่ยวไทยต่อไป
TIM/LU