ทั่วทั้งประเทศจีนมีโรงงานบำบัดน้ำเสียมากถึง 5,600 แห่ง มีจำนวนหนึ่งซึ่งถูกเปลี่ยนจากโรงบำบัดน้ำเสียบนดินเป็นโรงงานบำบัดน้ำเสียใต้ดินซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ด้านการตลาดมีมูลค่าหลายแสนล้านหยวน เช่นเดียวกับที่นี่โรงบำบัดน้ำเสียปี้สุ่ย (碧水) ตั้งอยู่ที่เขตทงโจว กรุงปักกิ่ง เป็นโครงการโรงบำบัดน้ำเสียใต้ดินที่เดินเครื่องตลอดแห่งแรกของประเทศจีนเดิมที่ดินบริเวณนี้เคยเป็นโรงบำบัดน้ำเสียบนดินมาก่อนแต่ด้วยสาเหตุการขยายตัวของเมือง และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งเสียงและกลิ่นที่มีต่อชาวบ้านในชุมชน ทำให้มีการปรับเปลี่ยนให้โรงบำบัดน้ำเสียแห่งนี้ลงไปอยู่ใต้ดินโดยใช้เทคโนโลยีที่จีนคิดค้นและผลิตขึ้นเองทดแทนเทคโนโลยีเดิมของอเมริกา ทำให้โรงงานบำบัดน้ำเสียปี้สุ่ย ที่มีความลึกจากระดับพื้นดิน 15 เมตรแห่งนี้ สามารถประหยัดพื้นที่จากเดิมได้มากถึง 2 ใน 3 และสามารถรีไซเคิลน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณน้ำที่รับเข้าและปล่อยออกในแต่ละวันอยู่ที่ 1.8 แสนตัน และในปี 2016 คณะผู้ไทยแทนร่วมกับผู้แทนจาก OECD ก็เคยเข้าดูงานในโครงการแห่งนี้
ดร.ฝางหงเทารองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีวิศวกรรมกลุ่มบริษัททรัพยากรน้ำจีน เปิดเผยกับทีมข่าวภาคภาษาไทยของ CMG ว่านับตั้งแต่โครงการนี้เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบันราคาของอสังหาริมทรัพย์โดยรอบโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิม 3- 4 หมื่นหยวน เป็น 6-7 หมื่นหยวนต่อตารางเมตร จากเดิมที่ไม่มีใครอยากอยู่อาศัยในบริเวณนี้เนื่องจากกลิ่นและเสียงรบกวนจากโรงงานบำบัดน้ำเสียบนดิน กลับกลายเป็นบริเวณที่มีความต้องการในด้านที่อยู่อาศัยโครงการนี้เมื่อสร้างเสร็จพื้นที่บนดินจะกลายเป็นสวนสาธารณะ และลานกิจกรรมสันทนาการให้กับชุมชม
น้ำเสียที่ได้รับการบำบัดจากที่นี่จะถูกนำไปใช้ในสวนสาธารณะลู่ซิน ใช้เป็นน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งรวมถึงโรงไฟฟ้าซานเหอ ที่มณฑลเหอเป่ย ปล่อยลงแม่น้ำยวี่ไต้เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และในอนาคตจะถูกส่งไปใช้ในยูนิเวอร์แซลสตูดิโอซึ่งกำลังจะเปิดดำเนินการในเดือนกรกฎาคมปีนี้