วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2021 ในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง นางฮว่า ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าววิงวอนทุกประเทศที่มีขีดความสามารถให้ใช้ความพยายามช่วยเหลือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประเทศที่มีความต้องการ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประชาชนทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนและแบกรับค่าใช้จ่ายได้ เธอกล่าวชี้ว่า การสร้าง “ช่องว่างด้านวัคซีน” เป็นพฤติกรรมไร้คุณธรรมและขาดความรับผิดชอบ จีนขอคัดค้านพฤติกรรม “ลัทธิชาตินิยมทางวัคซีน”
จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังคงหนักหน่วง นับเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดที่นานาประเทศกำลังเผชิญนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การระบาดของโควิด-19 ไม่มีพรมแดน การเอาชนะโรคระบาดต้องการทุกประเทศกวดขันมาตรการป้องกันควบคุมภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในวงกว้างด้วยความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว วัคซีนถูกมองว่าเป็นความหวังใหญ่สุดและอาวุธทรงพลังที่สุดในการเอาชนะโรคระบาด ไม่ว่าจะพิจารณาจากปัจจัยการเอาชนะโรคหรือปัจจัยด้านมนุษยธรรม วัคซีนต่างควรเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะของทั่วโลก
ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 73 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวอย่างจริงจังว่า หลังการค้นคว้าวิจัยวัคซีนต้านโควิค-19 ของจีนประสบความสำเร็จและใช้งานได้ จีนจะมอบให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลก เพื่อสร้างคุณูปการแก่การบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนและแบกรับค่าใช้จ่ายของประเทศกำลังพัฒนา
ปัจจุบัน จีนประสบชัยชนะในสงครามต่อสู้กับโควิด-19 ทั้งยังคงใช้มาตรการป้องกันควบคุมอย่างเข้มงวดต่อไป ในฐานะประเทศวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หลายตัว ด้านหนึ่ง จีนกำลังดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนภายในประเทศขนานใหญ่และเป็นระเบียบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ทั่วประเทศฉีดวัคซีนไปแล้วรวมกว่า 100 ล้านโดส อีกด้านหนึ่ง จีนกำลังปฏิบัติตาม “คำมั่นสัญญาด้านวัคซีน” ผ่านปฏิบัติการทรงประสิทธิภาพอย่างจริงจัง โดยอยู่ระหว่างให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ไม่น้อยกว่า 80 ประเทศและ 3 องค์กรระหว่างประเทศ พร้อมไปกับการส่งออกวัคซีนแก่ 40 กว่าประเทศรวมแล้วกว่า 100 ล้านโดส
จนถึงปัจจุบัน จีนส่งมอบวัคซีนเกือบครึ่งหนึ่งที่ผลิตได้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือนานาประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน ถือเป็นการอัดฉีดพลังบวกแก่การต่อสู้โควิด-19 ของทั่วโลก ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจและการแบกรับภารกิจในฐานะประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่
สิ่งเหนือความคาดหมายของผู้คนทั้งหลาย คือ พฤติกรรมรับมือโควิด-19 โดยเฉพาะด้านวัคซีนของประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งทำให้ชาวโลกผิดหวังอย่างยิ่ง พวกเขากักตุนวัคซีนปริมาณมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศ แข่งขันกับโครงการกระจายวัคซีนที่ประสานงานโดยองค์การอนามัยโลก ตลอดจนควบคุมการส่งออกวัตถุดิบเพื่อแย่งชิงปริมาณการผลิตวัคซีน และอื่น ๆ
การกระทำเห็นแก่ตัวของประเทศร่ำรวยจำนวนหนึ่งเช่นนี้ทำให้การแบ่งปันวัคซีนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะขาดความเป็นธรรมอย่างหนัก “ช่องว่างด้านวัคซีน” ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ นำไปสู่การเกิด “ลัทธิชาตินิยมทางวัคซีน” ที่ชาวโลกวิตกกังวล สถิติจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศมั่งคั่งที่มีประชากรคิดเป็นร้อยละ 16 ของโลก ครอบครองวัคซีนในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเจริญแล้ว เช่น สหรัฐ อังกฤษ และแคนาดา เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้สั่งซื้อวัคซีนในปริมาณถึง 2 – 3 เท่าตัวของจำนวนประชากรเลยทีเดียว ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยากจนไม่มีขีดความสามารถ หรือ ไม่มีช่องทางรับวัคซีนจากประเทศตะวันตกเหล่านี้ได้เลย
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ว่า ช่องว่างด้านปริมาณวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ครอบครองโดยประเทศร่ำรวยกับปริมาณวัคซีนที่ประเทศยากจนได้รับการจัดสรรจากโครงการ COVAX กำลังกว้างขึ้นทุกขณะ การแบ่งปันวัคซีนซึ่งขาดความยุติธรรมนั้นไม่เพียงแต่ผิดหลักคุณธรรมเท่านั้น หากยังสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ลัทธิชาตินิยมทางวัคซีน” ไม่สอดคล้องกับความปรารถนาของประชาชนทั่วโลก ซึ่งกลายมาเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อความร่วมมือต้านโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งจำต้องคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ทั่วโลกวิงวอนสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกที่เจริญแล้วอื่น ๆ ให้หยุดสร้าง “ช่องว่างด้านวัคซีน” ต่อไป มิเช่นนั้นย่อมจะสร้างความเสียหายแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ นานาประเทศควรร่วมกันรับมือภัยพิบัติเชิงประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติครั้งนี้
TIM/LU