เรื่องราวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนดีเด่น—‘เหมา เซียงหลิน’ต้นแบบการขจัดความยากจน

2021-04-09 09:45:04 | CMG
Share with:

เรื่องราวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนดีเด่น — ‘เหมา เซียงหลิน’ ต้นแบบการขจัดความยากจน_fororder_下庄村通往外界的公路

ถนนจากหมู่บ้านเซี่ยจวงสู่ภายนอก บันทึกภาพด้วยโดรน วันที่ 3 กรกฎาคม 2020

 

เรื่องราวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนดีเด่น — ‘เหมา เซียงหลิน’ ต้นแบบการขจัดความยากจน_fororder_两名下庄村村民骑着摩托车行驶在下庄村通往外界的公路上

ชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงสองคนกำลังขี่จักรยานยนต์บนถนนที่เชื่อมหมู่บ้านเข้ากับภายนอก บันทึกภาพวันที่ 7 มิถุนายน 2017

เรื่องราวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนดีเด่น — ‘เหมา เซียงหลิน’ ต้นแบบการขจัดความยากจน_fororder_毛相林在下庄精神陈列馆内讲述当年修路的故事

เหมา เซียงหลินกำลังบรรยายเรื่องการสร้างถนนในอดีตภายในห้องนิทรรศการ “จิตวิญญาณเซี่ยจวง” บันทึกภาพวันที่ 3 กรกฎาคม 2020

เรื่องราวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนดีเด่น — ‘เหมา เซียงหลิน’ ต้นแบบการขจัดความยากจน_fororder_参与修路的下庄村村民在悬崖峭壁上打炮眼(资料照片)

ชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงที่ร่วมสร้างถนนกำลังเจาะรูระเบิดตามหน้าผา (แฟ้มภาพ)

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 จีนจัด “การประชุมใหญ่ว่าด้วยการสรุปผลงานและยกย่องแบบอย่างการต่อสู้เพื่อขจัดความยากจนทั่วประเทศ” ที่กรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ประกาศอย่างจริงจังว่า สงครามต่อสู้เพื่อขจัดความยากจนของจีนได้รับชัยชนะอย่างรอบด้าน ประชากรชนบทจำนวน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากไร้แล้วทั้งหมดตามมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

ปาฏิหาริย์หาใช่ได้มาโดยง่ายแต่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจใช้ความพยายามมาเป็นเวลานานของทุกภาคส่วนซึ่งเหนือจินตนาการของคนทั่วไป ท่ามกลางสงครามต่อสู้กับความยากจน มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนมากมายขยายบทบาทสำคัญซึ่งรวมถึงนายเหมา เซียงหลินด้วย เขาได้รับการยกย่องเป็น “ต้นแบบการขจัดความยากจนแห่งชาติ” ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจากนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มอบรางวัลแก่เขาด้วยตนเอง

เหมา เซียงหลินเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านเซี่ยจวง อำเภออูซาน นครฉงชิ่ง หรือ จงกิง คุณูปการโดดเด่นของเขา คือ การนำพาชาวบ้านสร้าง “ถนนลอยฟ้า” ตามแนวหน้าผาด้วยความกล้าหาญ

หมู่บ้านเซี่ยจวงถูกปิดล้อมทั้งสี่ทิศด้วยหน้าผาสูงราว 1,000 เมตร เสมือนตั้งอยู่ก้นบ่อลึก การสร้างถนนเป็นเรื่องยากเหมือนปีนขึ้นท้องฟ้า ถนนจากหมู่บ้านออกสู่โลกภายนอกเพียงสายเดียวในอดีตเป็นถนนโบราณ "108 โค้ง" การเดินทางไป-กลับระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอเมืองต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 วันเลยทีเดียว ชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงประมาณ 400 คนที่อาศัยอยู่ “ก้นบ่อ” เหล่านี้ เกือบครึ่งหนึ่งไม่เคยออกจากเขตภูเขาเลย ความยากจนและห่างไกลจากโลกภายนอกจึงเป็นโชคชะตาที่ยากจะหลุดพ้นได้ของชาวบ้านที่นี่มาเป็นเวลายาวนาน

ค.ศ. 1997 เหมา เซียงหลินในวัย 38 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านได้ประกาศการตัดสินใจอันน่าทึ่งที่จะ “สร้างถนน”

เหมา เซียงหลินให้กำลังใจในการประชุมใหญ่ร่วมกับชาวบ้านว่า “พวกเราจะยอมเป็นผู้ยากไร้ไปตลอดไม่ได้ จะยากลำบากเพียงไร ข้าพเจ้าก็จะนำสู้ดูสักหน่อย หากรุ่นนี้ไม่สามารถสร้างถนนได้ รุ่นถัดไปก็สร้างต่อ หากจำเป็นต้องใช้มือขุดก็ต้องขุดถนนออกมาสายหนึ่งให้ได้”

ฤดูหนาวปีนั้น ถนนที่เปลี่ยนชะตากรรมของชาวบ้านก็ได้เริ่มลงมือก่อสร้าง ผู้ชายแข็งแรงทั้งชายหนุ่มและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านต่างขนอุปกรณ์ เครื่องมือ และอาหารขึ้นภูเขาอย่างพร้อมเพรียง พวกเขากินอยู่ในถ้ำ เวลานอนจะผูกเชือกไว้ที่เอวเอาปลายอีกข้างหนึ่งผูกไว้กับต้นไม้เพื่อป้องกันไม่ให้ตกจากหน้าผาเวลาพลิกตัวตอนกลางคืน เพื่อทำเวลาในการสร้างถนน ครั้งหนึ่งเหมา เซียงหลินนอนค้างคืนบนภูเขาติดต่อกัน 3 เดือนโดยไม่กลับบ้านตัวเองเลย

การสร้างถนนตามแนวหน้าผายากลำบากเกินกว่าที่คาดไว้มาก หน้าผาสูงชันยากลำบากมากกว่าจะหาจุดเหยียบเท้าลงไปได้ คนที่ใจกล้าหน่อยใช้วิธีผูกเชือกยาวไว้ที่เอวแล้วยืนอยู่ในตะกร้า เอาตะกร้าแขวนไว้กับหน้าผาหลายร้อยเมตรเพื่อเจาะรูระเบิด เมื่อระเบิดภูเขาจนได้พื้นที่เล็ก ๆ พอเป็นฐานที่มั่นได้แล้วค่อยทุบก้อนหินลงไปทีละก้อนโดยใช้จอบ ก้านเจาะ และค้อนขนาดใหญ่

นายหยาง เฮิงซวง ชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงย้อนอดีตให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะเจาะรูระเบิดเขายืนอยู่ริมหน้าผาขาสั่นมาก มีเศษก้อนหินตกลงมาจากข้างบนเป็นระยะ ๆ ทันใดนั้น เหมา เซียงหลินพูดว่า พวกคุณอย่าเพิ่งขยับ รอผมลงไปสำรวจด้านล่างก่อน เขาผูกเชือกแล้วโรยตัวลงไปคนเดียว ในสถานที่ก่อสร้างเวลามีภัยเสี่ยงหรืองานหนัก เขาจะเป็นคนแรกที่ชิงลงมือทำก่อนคนอื่น

การสร้างถนนย่างเข้าสู่ปีที่ 3 มีชาวบ้านอุทิศชีวิตระหว่างการสร้างถนนติดต่อกันถึง 2 คนภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน คนแรกชื่อเสิ่น ชิ่งฟู่ วัย 26 ปี เขาถูกหินก้อนใหญ่หล่นกระแทกขณะทำงานจนกลิ้งลงไปยังหุบเขาที่มีความลึกหลายร้อยเมตร หลังจากทำพิธีฝังศพได้ไม่นาน นายหวง ฮุ่ยหยวน วัย 36 ปี ซึ่งกลับจากหมู่บ้านต่างถิ่นเพื่อร่วมสร้างถนนโดยเฉพาะก็ประสบชะตากรรมเดียวกับเสิ่น ชิ่งฟู่

บรรดาชาวบ้านพากันไปร่วมพิธีศพของหวง ฮุ่ยหยวนด้วยความสมัครใจ เมื่อเห็นบรรยากาศเศร้าโศกเสียใจของครอบครัวหวง ฮุ่ยหยวน เหมา เซียงหลินรู้สึกผิดอย่างที่สุด เขาถามชาวบ้านทั้งหลายด้วยเสียงสั่นเครือว่า “ถ้าจะสร้างถนนต่อไปอาจมีคนต้องเสียชีวิตอีก วันนี้พวกเราช่วยกันแสดงความเห็นหน่อยว่า ถนนสายนี้จะสร้างต่อไปหรือไม่?”

“สร้าง!” มีคนตะโกนเสียงดัง คนที่ตอบคำถามของเหมา เซียงหลินผู้นี้เป็นชายชรา ชื่อหวง อี้คุน ผู้เป็นบิดาของหวง ฮุ่ยหยวน เขากล่าวว่า “ลูกชายผมเสียชีวิตอย่างมีเกียรติ ถนนจำต้องสร้างต่อไป เราจะยอมให้ความสูญเสียสูญเปล่าไม่ได้”

ทันใดนั้นชาวบ้านทุกคนต่างยกมือขึ้น  เหมา เซียงหลินพยายามกลั้นน้ำตาและกล่าวด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นว่า “เพื่อสร้างถนนต่อไป แม้รุ่นเราจะยากจนและลำบากอีก 10 ปีก็ยอม เพื่อให้คนรุ่นหลังมีชีวิตที่ดี”

หลังจากนั้นมีชาวบ้านเสียชีวิตเพิ่มอีก 4 คนระหว่างการก่อสร้าง แต่เพื่อก้าวออกจากเขตเทือกเขาใหญ่ได้อย่างสะดวกและขจัดต้นตอของความยากจนได้โดยเร็ว ชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงจึงไม่เคยย่อท้อเรื่องการสร้างถนน ต่อมา ค.ศ. 2014 ภายใต้การนำของเหมา เซียงหลิน ชาวบ้านเซี่ยจวงใช้เวลานานถึง 7 ปีเต็ม ในที่สุดได้ก็สามารถ “เจาะ” ถนนที่มีความยาว 8 กิโลเมตร กว้าง 2 เมตรตามแนวหน้าผาได้สำเร็จ

ถนนท่ามกลางหุบเขาสายนี้มีความคดเคี้ยวเหมือนมังกร ปลายด้านหนึ่งทิ่มลงสู่หมู่บ้านในก้นหุบเขา ส่วนอีกด้านหนึ่งทะยานขึ้นสู่ยอดเขา นี่คือถนนที่จะช่วยชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงก้าวออกจากภูเขาและความยากจน ถือเป็นถนนแห่งการสานฝันของชาวหมู่บ้านรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้เป็นจริงได้ในที่สุด

แม้มีถนนสัญจรออกจากเทือกเขาได้แล้วแต่ในเวลานั้นชีวิตของชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงส่วนใหญ่ยังคงอยู่ใต้เส้นความยากจน เหมา เซียงหลิน “ตีเหล็กเมื่อแดง กินแกงเมื่อร้อน” นำชาวบ้านปลูกส้ม หวังบรรเทาความยากไร้ของหมู่บ้าน

แต่น่าเสียดาย สวนส้ม 500 โหม่ว หรือราว 208 ไร่ของหมู่บ้านประสบภัยศัตรูพืช แทบไม่มีดอกผลให้เก็บเกี่ยว เหมา เซียงเหลินจึงได้เรียกประชุมใหญ่ชาวบ้าน เขายอมรับความผิดพลาดของตนเองต่อที่ประชุม พร้อมกล่าวว่า “การพัฒนาธุรกิจจะพึ่งพาแรงกายอย่างเดียวไม่ได้ ทำอะไรอย่ากลัวล้มเหลว สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องค้นพบสาเหตุของความล้มเหลวต่างหาก”

ชาวบ้านให้การสนับสนุนเหมา เซียงหลินอีกครั้ง พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนั้นยังสร้างถนนผ่านความทุกข์ยากสุดขีดมาแล้ว ความลำบากในปัจจุบันเพียงเท่านี้นับประสาอะไรกับเรา?

ทางอำเภอได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเทคนิคการปลูกส้มมาอบรมชาวบ้านอย่างละเอียด ไม่กี่ปีให้หลังธุรกิจส้มของหมู่บ้านเซี่ยจวง “กลับชาติมาเกิด” ได้ในที่สุด ค.ศ. 2019 ปริมาณการผลิตส้มมีเกือบ 40 ตัน

เหมา เซียงหลินอุทิศช่วงเวลาดีที่สุดในชีวิตของเขาแก่ผืนแผ่นดินนี้ นับจนถึงปลาย ค.ศ. 2019 หมู่บ้านเซี่ยจวงรวมแล้วมี 269 คนจาก 64 ครัวเรือนหลุดพ้นความยากจน ทำรายได้เฉลี่ยต่อหัวถึง 12,000 หยวน

ปัจจุบัน หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เคยก้าวออกจากหมู่บ้านแห่งนี้กำลังรับช่วงภารกิจพัฒนาบ้านเกิดให้เจริญรุ่งเรือง ผู้กองหม่า วัย 29 ปี หลังกลับยังหมู่บ้าน เขาเปิดธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยเน้นขายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เช่น ส้ม และแตงโม เป็นต้น ขณะที่เผิง กั้น วัย 27 ปี นักศึกษารุ่นแรกของหมู่บ้านเซี่ยจวง ได้กลับมาประกอบอาชีพครูสอนหนังสือที่บ้านเกิด

เหมา เซียงหลินยังมีความฝันที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งก็คือ ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวหมู่บ้านเซี่ยจวงก้าวออกไปข้างนอกเท่านั้น หากยังต้องให้คนภายนอกก้าวเข้ามายังหมู่บ้านด้วย ปีหลัง ๆ นี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอำเภออูซาน บ้านพักชาวนา 19 หลังในหมู่บ้านถูกดัดแปลงเป็นโฮมสเตย์และเริ่มต้อนรับนักท่องเที่ยวจากภายนอกแล้ว

TIM/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)

陆永江