จีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเลอีกครั้ง

2021-04-15 11:17:47 | CRI
Share with:

จีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเลอีกครั้ง_fororder_20210415hfs

วันที่ 14 เมษายน  นายเจ้า ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาเรื่องการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเลอีกครั้ง

นายเจ้า ลี่เจียน ตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ถามว่าจีนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำวิจารณ์ของเกาหลีใต้ รัสเซีย และคณะกรรมการสหภาพยุโรปต่อการตัดสินใจที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเลของญี่ปุ่น

นายเจ้า ลี่เจียน กล่าวว่า จีนเร่งรัดให้ญี่ปุ่นต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบ  ยึดหลักทางวิทยาศาสตร์   ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ    และตอบรับความกังวลอย่างมากของประชาคมโลก  และประเทศเพื่อนบ้านตลอดจนประชาชนภายในประเทศ

นายเจ้า ลี่เจียน ยังอ้างการรายงานข่าวของสื่อญี่ปุ่นว่า ปฏิบัติการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเลจะเริ่มขึ้นในสองปีข้างหน้า จะดำเนินการต่อเนื่องนาน 30 ปี  ตามแผนที่กำหนดไว้ของญี่ปุ่น น้ำปนเปื้อนที่จะปล่อยลงทะเลมีปริมาณกว่าหนึ่งล้านตัน   ทำให้ปฏิบัติการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเลในครั้งนี้มีปริมาณน้ำปนเปื้อนมาก  ดำเนินการเป็นเวลานาน ครอบคลุมพื้นที่กว้าง และมีความเสี่ยงสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   

นายเจ้า ลี่เจียนได้ตั้งคำถาม 3 ประเด็นต่อรัฐบาลญี่ปุ่น คำถามแรกคือฝ่ายญี่ปุ่นได้รับฟังเสียงข้อสงสัย และความกังวลจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหรือไม่?

นายเจ้า ลี่เจียน ชี้ว่า วันที่ 13 เมษายน  มีการชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น รวมทั้งกรุงโตเกียว และฟุกูชิมะ นอกจากจีน เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหภาพยุโรป  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 311 กลุ่ม ก็ได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างเด็ดขาดต่อการตัดสินใจของฝ่ายญี่ปุ่น     กรีนพีซญี่ปุ่นระบุว่า  ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีและความพร้อมที่จะสร้างถังเก็บน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีมากขึ้น  แต่ญี่ปุ่นกลับเลือกปล่อยน้ำปนเปื้อนลงไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก   การตัดสินใจของฝ่ายญี่ปุ่นไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจึงเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม

คำถามที่สอง การตัดสินใจของญี่ปุ่นสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่?

นายเจ้า ลี่เจียน กล่าว่า การตัดสินของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล หลังเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรง  เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่มีความรับผิดชอบ ญี่ปุ่นในฐานะประเทศภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ควรรู้ถึงข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาฉบับนี้ที่ระบุไว้ว่า ทุกประเทศต้องใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อประกันไม่ให้มลภาวะที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือกิจการบางอย่างภายในพื้นที่ที่ตนกำกับดูแล หรือควบคุมอยู่ ลามไปถึงพื้นที่นอกอธิปไตยของตน    

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศต่างๆ เช่น แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ทราบ  และมีการปรึกษาหารืออย่างรอบด้านกับประชาคมโลก  อีกทั้งต้องทำการประเมินและสำรวจสภาพแวดล้อม  ใช้มาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำสุด     ญี่ปุ่นได้ปฏิบัติพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าวหรือยัง ?

คำถามที่สาม น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ญี่ปุ่นจะปล่อยลงทะเลนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศจริงหรือ?

นายเจ้า ลี่เจียนกล่าวว่ารายงานจากคณะผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ระบุอย่างชัดเจนว่า น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วของญี่ปุ่นนอกจากจะปนเปื้อนทริเทียม (tritium)แล้ว ยังปนเปื้อนสารรังสีชนิดอื่นด้วย 

นายเจ้า ลี่เจียน เน้นว่า ทะเลไม่ใช่ถังขยะของญี่ปุ่น   มหาสมุทรแปซิฟิกไม่ใช่ท่อระบายน้ำเสียของญี่ปุ่น   ญี่ปุ่นไม่ควรให้ทั่วโลกมารับผิดชอบการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของญี่ปุ่น  จีนสงวนสิทธิ์ที่จะใช้ปฏิบัติการที่รุนแรงมากขึ้นต่อการนี้  (bo/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

蔡建新